backup og meta

ไข่ดัน สาเหตุ อาการ การรักษาและการดูแลตัวเอง

ไข่ดัน สาเหตุ อาการ การรักษาและการดูแลตัวเอง

ไข่ดัน คือ อาการต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณขาหนีบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมะเร็ง ไข่ดันไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน หากรู้สึกถึงความผิดปกติบริเวณขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บปวด หรือมีก้อนที่โตเร็ว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที และรับการรักษาที่เหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

ไข่ดัน คืออะไร

ไข่ดัน คือ อาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวม โดยทั่วไปเป็นผลมาจากการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ร่างกายคนเราประกอบด้วยต่อมน้ำเหลืองประมาณ 500-600 ต่อม กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองมีรูปร่างคล้ายถั่ว มีหน้าที่ดักจับไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย โดยเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองจะเป็นตัวทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น

โดยปกติแล้ว ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบมีขนาดเล็กจนสัมผัสไม่ได้ แต่หากมีอาการไข่ดัน ต่อมน้ำเหลืองจะโตขึ้น อาจเจ็บเวลาเดิน นั่ง หรือสัมผัส

อาการ

อาการของไข่ดัน

ผู้ที่มีอาการไข่ดัน อาจมีอาการดังนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมกว่าปกติ
  • รู้สึกเจ็บบริเวณขาหนีบ
  • ระคายเคืองหรือมีผื่นคันบริเวณอวัยวะเพศ
  • อวัยวะเพศอักเสบหรือบวมแดง
  • มีไข้

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

โดยทั่วไป ต่อมน้ำเหลืองจะหายบวมได้เอง อย่างไรก็ตาม หากผู้เป็นไข่ดันพบว่าตัวเองมีอาการดังนี้ ควรไปพบคุณหมอ

  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิน 5 วันในเด็ก หรือเกิน 2 สัปดาห์ในผู้ใหญ่
  • บริเวณรอบ ๆ จุดที่บวมกลายเป็นสีแดงหรือม่วง
  • ต่อมน้ำเหลืองสัมผัสแล้วแข็ง หากลองกดเบา ๆ จะไม่ขยับไปตามแรงกด
  • ไข้ไม่ลดเป็นเวลาหลายวัน
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลด

สาเหตุ

ไข่ดัน บวม เกิด จาก อะไร

ไข่ดันอาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ โดยสาเหตุหลัก คือ การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อบริเวณเท้า ผิวหนังที่อวัยวะด้านล่าง ขาหนีบ และอวัยวะเพศ นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) น้ำกัดเท้า สังคัง นอกจากนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน โรคเริม การติดเชื้อเอชไอวีในระยะเอดส์หรือโรคเอดส์ ก็เป็นสาเหตุหลักของไข่ดันเช่นกัน

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวม คือ

  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งองคชาต มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก
  • ยาบางประเภท เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol) อะทีโนลอล (Atenolol) ไฮดราลาซีน (Hydralazine)
  • โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง หรือโรคพุ่มพวง (SLE)

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย ไข่ดัน

สำหรับการวินิจฉัยผู้เป็นไข่ดัน คุณหมอจะซักถามเกี่ยวกับอาการป่วยและตรวจร่างกาย โดยคุณหมอจะตรวจสอบบริเวณขาหนีบและต่อมน้ำเหลืองเพื่อดูขนาด อาการกดเจ็บ หรือผิวสัมผัส

ในบางกรณี คุณหมออาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจเลือด เพื่อให้ทราบสาเหตุของอาการป่วย อาจรวมถึงการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ตรวจเอกซเรย์ ซีทีสแกน หรืออัลตร้าซาวด์ เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อ รวมถึงหาเนื้องอก
  • ตรวจชิ้นเนื้อ หากคุณหมอสงสัยว่าอาการต่อมน้ำเหลืองบวมเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง คุณหมออาจนำชิ้นเนื้อบางส่วนของต่อมน้ำเหลืองที่บวมไปตรวจ

การรักษาไข่ดัน

ในการรักษาต่อมน้ำเหลืองที่บวมบริเวณขาหนีบ คุณหมอจะรักษาตามสาเหตุของการป่วย ดังนี้

  • หากเป็นการติดเชื้อบริเวณเท้า ขาหนีบ และอวัยวะเพศ คุณหมอจะจ่ายยาต้านไวรัสหรือยาปฏิชีวนะให้
  • หากเป็นเพราะยา เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol) อะทีโนลอล (Atenolol) ไฮดราลาซีน (Hydralazine) คุณหมอจะปรับปริมาณของยาดังกล่าวหรือเปลี่ยนยาให้
  • หากเป็นมะเร็ง คุณหมอจะรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี หรือการบำบัดด้วยรังสี
  • หากเป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง คุณหมอจะรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันเพื่อปรับระบบภูมิคุ้มกัน

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือโรคไข่ดัน

ผู้ป่วยไข่ดันสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

  • อาจบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยการประคบร้อน โดยใช้ผ้าชุบน้ำร้อนบิดหมาดประคบบริเวณขาหนีบ
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ไอบรูโพเฟน พาราเซตามอล
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากมีเพศสัมพันธ์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Anatomy, Abdomen and Pelvis: Inguinal Lymph Node. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557639/. Accessed May 9, 2023.

Swollen lymph nodes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/swollen-lymph-nodes/symptoms-causes/syc-20353902. Accessed January 17, 2022

Swollen Lymph Nodes. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/swollen-glands. Accessed January 17, 2022

Swollen Lymph Nodes. https://www.umcvc.org/health-library/aa65796spec. Accessed January 17, 2022

Swollen glands. https://www.nhs.uk/conditions/swollen-glands/. Accessed January 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/03/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการ สาเหตุ และการรักษา

โรคเริมที่อวัยวะเพศ อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา