backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคเอดส์ อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

โรคเอดส์ อาการ สาเหตุ และการรักษา

โรคเอดส์ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เรียกอีกอย่างว่า ระยะเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อสร้างความเสียหายให้ระบบภูมิคุ้มกัน จนขัดขวางกระบวนการในการต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสและเชื้อโรคอื่น ๆ ทั้งยังอาจแพร่กระจายโดยการสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ จากแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตร หรือให้นมบุตร การติดเชื้อเอชไอวีอาจใช้เวลาหลายปีกว่าที่เชื้อจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ แม้จะยังไม่มียารักษาการติดเชื้อเอชไอวี แต่การรับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอก็สามารถช่วยชะลอการเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะเอดส์ได้

คำจำกัดความ

โรคเอดส์คืออะไร

โรคเอดส์ หรือที่เรียกว่า ระยะเอดส์ คือ คือกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดไวรัสเอชไอวี จัดเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคเอดส์จะถูกทำลายและลดจำนวนลง ทำให้ติดเชื้ออื่น ๆ และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น โดยเชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การได้รับเลือดผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทารกในครรภ์ได้รับเชื้อจากมารดาตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ทารกได้รับเชื้อเพราะกินนมแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

โรคเอดส์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอาจเป็นกลุ่มพนักงานบริการทางเพศ กลุ่มชายรักชาย และผู้ที่ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด โดยปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณ 500,000 คน โดยเป็นผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัส 394,598 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,600 คน และผู้เสียชีวิตจากเอชไอประมาณวี 12,000 คน

อาการ

อาการของโรคเอดส์

อาการที่พบได้บ่อยของการติดเชื้อเอชไอวี มีดังนี้

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • ไอ เจ็บคอ
  • หนาวสั่น
  • มีเหงื่อออกช่วงเวลากลางคืน
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้าง่าย
  • ผื่นขึ้นตามลำตัว
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม 
  • มีแผลในปาก
  • ท้องเสีย

แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าการติดเชื้อเอชไอวีพัฒนาเป็นการติดเชื้อในระยะสุดท้าย หรือที่เรียกว่า โรคเอดส์

  • มีไข้ซ้ำ ๆ
  • หนาวสั่น เหงื่อออก
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • น้ำหนักลดลงอย่างไร้สาเหตุ
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • เหนื่อยล้าง่าย
  • มีจุดสีขาวในลิ้นและในช่องปาก
  • ผื่นขึ้นบนผิวหนัง

สาเหตุ

สาเหตุโรคเอดส์

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเอดส์มาจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอดและทวารหนักระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือดของผู้ติดเชื้อผ่านการให้เลือด อีกทั้งมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีก็อาจสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่ทารกได้ เชื้อไวรัสเอชไอวีอาจทำลายเซลล์ CD4 ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายของต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยปกติ ร่างกายจะมีเซลล์ CD4 ในเลือดประมาณ 500-1,400 เซลล์/ลบ.มม. แต่หากมีเซลล์ CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ ก็อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือไม่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสเมื่อกอด หอม จูบ หรือจับมือกับผู้ติดเชื้อ บางคนอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อเอชไอวี หรืออาจไม่แสดงอาการใด ๆ และอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าการติดเชื้อจะเข้าสู่ระยะโรคเอดส์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงโรคเอดส์

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ติดเชื้อเอชไอวีนำไปสู่ระยะโรคเอดส์ มีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย 
  • มีคู่นอนหลายคน
  • เป็นโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองในเทียม เริม ภาวะช่องคลอดอักเสบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดแผลเปิดที่ทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ง่ายขึ้น
  • ฉีดยาหรือใช้เข็มเจาะเลือดร่วมกับผู้อื่น
  • ได้รับเลือดผ่านการให้เลือด
  • เป็นทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือทารกที่กินนมแม่ที่ติดเชื้อ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคเอดส์

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ คุณหมออาจทำการทดสอบด้วยวิธีทางการแพทย์ ดังนี้

  • ทดสอบแอนติเจนและแอนติบอดี คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดดำไปทดสอบหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-12 สัปดาห์ 
  • ทดสอบกรดนิวคลีอิก (Nucleic acid tests) เป็นการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหาปริมาณของเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ทดสอบหาภาวะแทรกซ้อน คุณหมออาจทดสอบหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของโรคเอดส์ร่วมด้วย เช่น วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี ภาวะตับไตล้มเหลว การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus) การติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • ทดสอบระยะของเชื้อเอชไอวี เป็นการทดสอบหาระยะการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อหาวิธีรักษาให้เหมาะสมกับระยะที่ผู้ป่วยเป็น
    • หาปริมาณไวรัส ด้วยการตรวจตัวอย่างเลือด วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มรักษาการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว 
    • ตรวจการดื้อยา เอชไอวีบางสายพันธุ์ดื้อต่อยาต้านเชื้อ การทดสอบนี้จะช่วยให้คุณหมอทราบว่าไวรัสเอชไอวีที่อยู่ในร่างกายผู้ป่วยดื้อยาหรือไม่
    • ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว หากมีเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ในเลือดต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. อาจเป็นไปได้ว่าจะเข้าสู่ระยะโรคเอดส์

การรักษาโรคเอดส์

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ให้หายขาด แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยควบคุมไม่ให้อาการแย่ลงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจยิ่งทำลายสุขภาพได้

  • ยาต้านไวรัสเอชไอวี องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น ควรได้รับยาต้านไวรัสตลอดชีวิต แต่จะได้รับยาชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ
  • กลุ่มยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs) เช่น เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) ริวพิไวรีน (Rilpivirine) โดราไวรีน (Doravirine)
  • กลุ่มยาเอ็นเอาร์ทีแอลเอส (NRTIs) เช่น อบาคาเวียร์ (Abacavir) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ลามิวูดีน (Lamivudine) ไซโดวูดีน (Zidovudine) 
  • สารยับยั้งโปรตีเอสเอชไอวี เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ดารูนาเวียร์ (Darunavir)
  • สารอินทีเกรส (Integrase) เช่น เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)
  • สารยับยั้งป้องกันเชื้อไวรัสเข้ามาในเซลล์เม็ดเลือดขาว เช่น มาราวิร๊อค (Maraviroc) เอ็นฟูเวอร์ไทด์ (Enfuvirtide)
  • การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเอดส์

    วิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีที่นำไปสู่โรคเอดส์ได้

    • สวมถุงยางอนามัย หรือใช้แผ่นยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    • รับประทานอาหาร หรืออาหารเสริมที่มีวิตามินและแร่ธาตุ เช่น โพรไบโอติก วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินซี เหล็ก สังกะสี
    • ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารก
    • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
    • ใช้ยาต้านไวรัสตามที่คุณหมอกำหนด เช่น ยาเพร็พ (PrEP) หากกังวลว่าอาจติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา