อาการไข้ทับระดู
ไข้ทับระดูหรืออาการป่วยระหว่างมีประจำเดือน อาจส่งผลให้เกิดอาการดังนี้
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริวบ่อย
- ปวดข้อ
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว
- ท้องอืด
- ปวดท้องน้อย
- ปวดหลัง
ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน อาการไข้ทับระดูอาจมีความรุนแรงมากกว่าปกติ เช่น
- มีไข้หรือหนาวสั่นในช่วงที่เป็นประจำเดือน
- มีตกขาวปนหนอง มีตกขาวในปริมาณมากกว่าปกติ หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- ท้องเสียหรือท้องร่วง
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่
หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะหรือวิงเวียนศีรษะอย่างหนัก พร้อมตกขาวผิดปกติไปจากเดิม อาจต้องรีบไปพบคุณหมอเพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณช่องคลอด หากปล่อยไว้ไม่รักษาอย่างทันท่วงที เชื้ออาจกระจายไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่นที่ยังไม่ติดเชื้อ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ ปีกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก จนอวัยวะเหล่านั้นอักเสบ และอาจทำให้เสี่ยงมีบุตรยากในอนาคต รวมไปถึงอาจเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ทับระดู
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ทับระดู อาจทำได้ดังนี้
- ใช้ยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อรักษาอาการปวดและลดไข้ที่เกิดระหว่างเป็นประจำเดือน
- ใช้ยาจันทน์ลีลาซึ่งเป็นยาแผนโบราณในการบรรเทาปวด ลดไข้ และแก้อักเสบได้ สามารถใช้ได้ผลในผู้ที่มีอาการไข้ทับระดู โดยรับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายในน้ำ ทุก 3 – 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมงเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ในช่วงที่เป็นประจำเดือน อีกทั้งการพักผ่อนอย่างเพียงพอยังช่วยลดอาการอารมณ์แปรปรวนและความวิตกกังวล ที่ทำให้ปวดศีรษะและรู้สึกวิงเวียนศีรษะได้
- เปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ 3-4 แผ่น โดยอาจเปลี่ยนทุก ๆ 4 ชั่วโมงเพื่อสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศให้สะอาดและเช็ดให้แห้งเมื่อเข้าห้องน้ำในช่วงเป็นประจำเดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีส่วนช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์เมื่อมีประจำเดือน เช่น อาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างโยเกิร์ต ผักใบเขียว อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา ถั่ว อาหารที่เป็นธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ขนมปังโฮลเกรน ข้าวกล้อง นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ เพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย