LGBTQ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    LGBTQ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer) เป็นคำเรียกกลุ่มความหลากหลายทางเพศในสังคม ซึ่งกลุ่มหลัก ได้แก่ ชายรักชาย และหญิงรักหญิง สองกลุ่มนี้อาจเสี่ยงเป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ต่างจากกลุ่มคนอื่น ๆ ทั้งนี้ ควรศึกษาเกี่ยวกับชนิดของโรค เพื่อจะได้ระวังตนเอง รวมทั้งสังเกตอาการเบื้องต้นและหาทางป้องกัน

    กลุ่มชายรักชายและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ความเสี่ยงด้านสุขภาพทางเพศหลักของ LGBTQ กลุ่มชายรักชาย คือโรคติดต่อทางเพศพันธ์สัมพันธ์ ซึ่งติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ รวมถึงเลือดและบาดแผล ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

    ชายรักชายเสี่ยงต่อโรคประเภทนี้เนื่องจากพฤติกรรมมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในบางคู่ การมีคู่นอนหลายคน รวมถึงการร่วมเพศทางทวารหนักที่มีความบอบบาง อันเสี่ยงให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักพบในกลุ่มชายรักชาย มีดังนี้

    การติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์

    เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) มักพบในน้ำอสุจิ สารคัดหลั่ง สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน โดยเฉพาะผ่านทางทวารหนักหรือเนื้อเยื่ออ่อน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ และการได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ

    เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ท้องเสีย หนาวสั่น ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองบวม

    ในกรณีติดเชื้อโดยไม่รีบรักษา การติดเชื้อเอชไอวีอาจทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ ผู้ป่วยเอดส์จะมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำ ทำให้ป่วยหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เชื้อราในหลอดลม รวมถึงการติดเชื้อที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย

    หนองในแท้และหนองในเทียม

    หนองในแท้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งพบการติดเชื้อสูงในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนหนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งมักอาศัยอยู่บริเวณอวัยวะเพศ และท่อปัสสาวะ

    LGBTQ กลุ่มชายรักชายมีโอกาสติดโรคหนองในทั้งสองชนิดผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้

    • หากติดเชื้อที่อวัยวะเพศ มักเกิดอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองที่อวัยวะเพศ อัณฑะปวดหรือบวม
    • หากติดเชื้อที่ลำไส้ตรง มักมีสารคัดหลั่งคล้ายหนองไหลออกมาจากทวารหนัก และอาการคันหากเป็นหนองใน หรืออาการเจ็บปวด บริเวณทวารหนักหากเป็นหนองในเทียม

    ซิฟิลิส

    โรคซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ผ่านการสัมผัสแผลเล็ก ๆ บนร่างกายผู้ป่วยระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    อาการของโรค คือเกิดแผลบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก และผื่นตามลำตัว หากเริ่มติดเชื้อในระยะแรก ๆ อาจหายเองได้ แต่ถ้าทิ้งไว้นานโดยไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น การบาดเจ็บที่สมอง ระบบประสาทเสียหาย ตาบอด เป็นอัมพาต

    กลุ่มหญิงรักหญิงและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ความเสี่ยงด้านสุขภาพทางเพศของ LGBTQ กลุ่มหญิงรักหญิง คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับ LGBTQ กลุ่มชายรักชาย โดยโรคที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    โรคหูดที่อวัยวะเพศ

    หูดที่อวัยวะเพศ เกิดจากติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แพพพิลโลมา (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งมักอาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิว มักพบอยู่บนผิวหนังรวมทั้งบริเวณช่องคลอด ทวารหนัก รวมทั้งปากและช่องคอ การแพร่ของเชื้อเกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสดังกล่าวระหว่างมีเพศสัมพันธ์

    อาการของโรคคือเกิดเป็นตุ่มนูนแข็งสีน้ำตาลเรียกว่าหูดขึ้นบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ ปาก ทวารหนักและอาจเกิดตุ่มขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก

    การติดเชื้อ HPV นอกจากทำให้เป็นหูดแล้ว ยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ยิ่งกว่านั้นเชื้อไวรัส HPV ยังเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกด้วย

    โรคพยาธิในช่องคลอด

    โรคพยาธิในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อจากปรสิตชื่อ ทริโคโมแนต วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) ซึ่งแพร่กระจายระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือผ่านการใช้เซ็กส์ทอยร่วมกัน พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

    ทำให้ช่องคลอดและท่อปัสสาวะติดเชื้อ อาการของโรคคือ คันบริเวณช่องคลอด ช่องคลอดแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปากมดลูกบวมแดง มีสารคัดหลั่งไหลสีขาวหรือเขียวออกมาจากช่องคลอด

    อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคพยาธิในช่องคลอดบางรายอาจไม่มีอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

    เริม

    เริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์รวมทั้งออรัลเซ็กส์ ผ่านแผลพุพอง น้ำลาย และสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศของผู้ติดเชื้อ

    อาการของเริม คือเกิดแผลพุพองบริเวณปากหรืออวัยวะเพศ รวมถึงปัสสาวะแสบขัด

    เริมไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่อาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ในบางกรณี หากเกิดเริมซ้ำอาจไม่ต้องรักษาเพราะแผลหายเองได้ ทั้งนี้ อาการที่เกิดซ้ำมักไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ๆ

    โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย

    มีสาเหตุจากจำนวนแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) ลดลง ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคในช่องคลอด เมื่อแบคทีเรียก่อโรคมีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดการอักเสบได้

    โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย พบบ่อยในผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

    อาการของโรคคือ มีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นบริเวณช่องคลอด โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์หรือหลังมีประจำเดือน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการระคายเคืองหรือคันบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ

    หากไม่รีบรักษา โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรียอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ อย่าง โรคหนองใน กระดูกเชิงกรานอักเสบ

    ซิฟิลิส

    หญิงรักหญิงสามารถเป็นซิฟิลิสได้เช่นเดียวกับกลุ่มชายรักชาย โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ มีผื่นแดงตามลำตัว เป็นไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีฝ้าขาวในปาก

    หากปล่อยไว้ไม่รักษา ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสอาจเป็นโรคแทรกซ้อนที่หัวใจหรือระบบประสาทได้

    การป้องกันตัวจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    LGBTQ สามารถป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • ทำความสะอาดทวารหนักก่อนและหลังร่วมเพศด้วยการใช้อุปกรณ์สวนทวาร (Rectal Douche) และสบู่อ่อน ๆ ทั้งนี้ควรสวนทวารด้วยความระมัดระวัง
    • ทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งใช้งาน เช่นจากทวารหนักเป็นช่องคลอด ในกรณีของหญิงรักหญิง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • ใช้เซ็กส์ทอยซึ่งทำจากวัสดุไม่มีรูพรุน เช่น ซิลิโคน เนื่องจากรูพรุนบนผิววัสดุเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค อาจเพิ่มโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ได้
    • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ปลอดภัย หรือมีผลตรวจโรคยืนยัน และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดโอกาสในการติดโรค
    • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV อันเป็นสาเหตุของโรคหูดที่อวัยวะเพศ
    • กินยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) สม่ำเสมอ ในกรณีของ LGBTQ ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา