backup og meta

LGBTQIA+ หมายถึงใคร และความเชื่อเกี่ยวกับเพศทางเลือก

LGBTQIA+ หมายถึงใคร และความเชื่อเกี่ยวกับเพศทางเลือก

LGBTQIA+ เป็นตัวย่อของกลุ่มความหลายทางเพศต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มรสนิยมหลัก ๆ อย่าง เลสเบี้ยน (Lesbian) เกย์ (Gay) บุคคลชอบสองเพศ (Bisexual) ไปจนถึงกลุ่มรสนิยมย่อยอย่าง เพศก้ำกึ่ง (Demisexual) ผู้ที่หลงรักคนฉลาดโดยไม่สนใจเพศ (Sapiosexual) ซึ่งคนส่วนมากอาจไม่ค่อยคุ้นหู หรือเป็นรสนิยมที่พบได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ แม้ LGBTQIA+ จะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย รวมถึงในต่างประเทศ แต่ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพศทางเลือกต่าง ๆ เช่น เพศทางเลือกเป็นความผิดปกติ เพศทางเลือกเป็นพวกชอบลวนลามเด็ก เพศทางเลือกสามารถเลือกที่จะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข

[embed-health-tool-ovulation]

LGBTQIA+ ย่อมาจากคำว่าอะไร หมายถึงใครบ้าง

LGBTQIA+ คือ ตัวย่อของรสนิยมเพศทางเลือกในสังคม ดังนี้

  • L ย่อมาจาก เลสเบี้ยน (Lesbian) หรือผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน
  • G ย่อมาจาก เกย์ (Gay) หรือผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน ทั้งนี้ เกย์ วูแมน (Gay Woman) ยังเป็นคำเรียกหนึ่งของเลสเบี้ยนด้วย
  • B ย่อมาจาก ไบเซ็กชวล (Bisexual) หมายถึง บุคคลสองเพศ ผู้ที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  • T ย่อมาจาก ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หมายถึง บุคคลข้ามเพศ หรือผู้ที่มีเพศสภาพและเพศกำเนิดไม่สอดคล้องกัน ไม่ว่าชายหรือหญิง โดยผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่าทรานส์วูแมน (Trans Woman) ส่วนผู้หญิงที่อยากเป็นผู้ชายจะเรียกว่าทรานส์แมน (Trans Man) ทั้งนี้ ทรานส์เจนเดอร์ สามารถใช้เรียกได้ทั้งบุคคลที่แปลงเพศแล้วและยังไม่แปลงเพศ
  • Q ย่อมาจาก เควียร์ (Queer) และเควสชันนิง (Questioning) โดยเควียร์ หมายถึง ผู้ที่ไม่จำกัดเพศ ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ขณะที่เควสชันนิงเป็นชื่อเรียกของผู้ที่กำลังค้นหาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ หรือหนทางแสดงออกเรื่องเพศในแบบของตัวเอง
  • I ย่อมาจาก อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หรือเพศกำกวม หมายถึง ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่เข้ากับนิยามผู้ชาย-ผู้หญิง รวมถึงผู้ที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศได้อย่างชัดเจน เช่น มีอวัยวะเพศชายและหญิงในตัวคนเดียว
  • A ย่อมาจาก เอเซ็กชวล (Asexual) หรือผู้ที่ไม่ฝักใฝ่เรื่องเพศใด ๆ

ส่วนเครื่องหมาย + ใน LGBTQIA+ นั้นหมายถึงกลุ่มรสนิยมทางเพศอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น เช่น

  • เอเจนเดอร์ (Agender) หมายถึง ผู้ที่ไม่นิยามตัวเองภายใต้คำอธิบายของอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดแบบหนึ่ง
  • เดมิเซ็กชวล (Demisexual) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้สึกดึงดูดทางเพศหรือความต้องการทางเพศเมื่อเกิดความผูกพันทางอารมณ์กับฝ่ายตรงข้ามแล้วเท่านั้น
  • เจนเดอร์ฟลูอิด (Genderfluid) หมายถึง เพศลื่นไหล โดยเป็นผู้ที่นิยามตัวเองว่ามีเพศวิถีไม่ตายตัว เช่น บางวันนิยามว่าตนเองเป็นเพศชาย แต่บางช่วงเวลานิยามตนเองว่าเป็นเกย์หรือเพศหญิง
  • แพนเซ็กชวล (Pansexual) หมายถึง การมีความรักแบบไม่จำกัดเพศ
  • นอน-ไบนารี (Non-Binary) หมายถึง การมีสำนึกทางเพศที่มองว่าตัวเองไม่อยู่ในขั้วของความเป็นชายหรือหญิง
  • ซาพิโอเซ็กชวล (Sapiosexual) หมายถึง การรู้สึกดึงดูดกับบุคคลฉลาด มีสติปัญญา โดยไม่เกี่ยงว่าอีกฝ่ายจะมีเพศวิถีแบบไหน

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุคคลเพศทางเลือก

ปัจจุบัน แม้บุคคล LGBTQIA+ จะได้รับการยอมรับมากขึ้น ทั้งในสังคมไทยและในต่างประเทศ แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุคคลเพศทางเลือกเหล่านี้อยู่ อย่างเช่น

  • บุคคลเพศทางเลือกชอบลวนลามเด็ก คนส่วนใหญ่เชื่อว่าบุคคลเพศทางเลือกเป็นสาเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก แต่จากการวิจัยต่าง ๆ ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เหตุลวนลามเด็กเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเพศชายที่ชอบเพศตรงข้าม ไม่ใช่เกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล
  • สามารถเลือกทจะเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนได้ การที่คนคนหนึ่งเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนนั้น มีที่มาจากหลายปัจจัย เช่น สิ่งแวดล้อม อารมณ์ ฮอร์โมน รวมถึงพันธุกรรม
  • ทรานส์เจนเดอร์ทุกคนต้องการแปลงเพศ ปัจจุบัน มีทรานส์เจนเดอร์จำนวนไม่น้อยที่เลือกรับประทานฮอร์โมนเพศตรงข้าม เพื่อให้มีลักษณะของเพศซึ่งตัวเองต้องการเป็น และตัดสินใจแปลงเพศในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ยังมีทรานส์เจนเดอร์อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ และเลือกแสดงจุดยืนทางเพศของตน ผ่านการแต่งกายข้ามเพศ หรือการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ
  • เอเซ็กชวลมีทัศนคติต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ เอเซ็กชวลอาจมีความสนใจต่อการมีเพศสัมพันธ์น้อยกว่าคนทั่วไป แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้ต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ของผู้อื่น รวมถึงสามารถรับฟังบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเพศและความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ ได้ เช่น ความต้องการเป็นเพื่อนกับใครบางคน ความต้องการการกอด จับมือ ยิ่งกว่านั้น แนวคิดที่ว่าการเป็นเอเซ็กชวลเกิดจากการที่ยังหาคู่รักหรือคู่นอนไม่ได้นับเป็นความเข้าใจผิดเช่นกัน เอเซ็กชวลมีคติเกี่ยวกับเรื่องเพศค่อนข้างเฉพาะเจาะจงกว่าคนอื่น ๆ และอาจรู้สึกมีความต้องการทางเพศเฉพาะบุคคลบางคนที่มีบุคลิกเฉพาะเจาะจงมาก ๆ
  • ไบเซ็กชวลและแพนเซ็กชวลนั้นเหมือนกัน ความจริงแล้ว ไบเซ็กชวลและแพนเซ็กชวลมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไบเซ็กชวลหมายถึงผู้ที่ชอบหรือรู้สึกดึงดูดกับเพศชายและเพศหญิง ขณะที่แพนเซ็กชวลรู้สึกดึงดูดได้กับทุกเพศ โดยไม่ระบุว่าต้องเป็นเพศเดียวกับตนเอง เพศตรงข้าม หรือเพศทางเลือก
  • เพศทางเลือกเป็นความผิดปกติทางจิตวิทยา ทางการแพทย์ยอมรับมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วว่า การรักเพศเดียวกันหรือไบเซ็กชวล เป็นเพียงรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตวิทยา วารสาร WAS News ของสมาคมสุขภาพทางเพศแห่งโลก ฉบับปี พ.ศ. 2554 ระบุว่า รักร่วมเพศไม่ใช่โรค โดยมีหลักฐานอย่างเป็นทางการคือข้อความประกาศอย่างเป็นทางการในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต พ.ศ. 2516 และองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2533 ซึ่งระบุว่า รักร่วมเพศเป็นลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Does LGBTQIA+ Stand For? Full Abbreviation And Other Terms Explained. https://abbreviations.yourdictionary.com/what-does-lgbtqia-stand-for-full-acronym-explained.html. Accessed June 27, 2022

“ไม่ฝักใจทางเพศ” การปรากฏตัวของอัตลักษณ์ทางเพศที่สังคมมองข้าม. https://www.bbc.com/thai/international-57086720#:~:text=Demisexual%3A%20%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B5,%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7. Accessed June 27, 2022

LGBTQIA Resource Center Glossary. https://lgbtqia.ucdavis.edu/educated/glossary. Accessed June 27, 2022

Four Misconceptions about LGBT Health. https://www.cuimc.columbia.edu/news/four-misconceptions-about-lgbt-health. Accessed June 27, 2022

Sexual Orientation Myths & Facts. https://case.edu/lgbt/safe-zone/sexual-orientation-myths-facts. Accessed June 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เกย์ กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง

สาวเลสเบี้ยน กับเรื่องบนเตียงที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา