backup og meta

เกย์ กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    เกย์ กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง

    เกย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ) หมายถึงผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศแบบหญิงรักหญิงหรือชายรักชาย แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึงชายรักชาย ผู้ที่เป็นเกย์อาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การใช้สารเสพติด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความรุนแรง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวัน การรู้ทันโรคและการจัดการที่เหมาะสมจึงอาจเป็นแนวทางที่ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพได้

    ปัญหาสุขภาพของเกย์

    ปัญหาสุขภาพเกย์แบ่งเป็น ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนี้

    ปัญหาสุขภาพร่างกาย

    ปัญหาสุขภาพกายมักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนื่องจากในบางคนอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกทำร้ายร่างกายจนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายตามมา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ ดังนี้

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    เกย์ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยหรือไม่ได้รับการตรวจคัดกรองโรค มีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่า และอาจเสี่ยงเกิดโรคที่พบบ่อยเหล่านี้

    • การติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสเลือดหรือของเหลวในร่างกายที่มีเชื้อไวรัส ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางทวารหนัก ทางปาก ช่องคลอด หรือการใช้เข็มร่วมกัน ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้นและเกิดมะเร็งบางชนิดได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ไข้ ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักลด หรือนำไปสู่โรคเอดส์ ซึ่งเป็นขั้นรุนแรงของการติดเชื้อเอชไอวี
    • การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) เป็นโรคที่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด มักไม่แสดงอาการ แต่อาจก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศและเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนักได้
    • โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันโดยไม่ป้องกันทางทวารหนัก ปาก ช่องคลอด หรือใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น เมื่อติดเชื้ออาจมีอาการแผลเล็ก ๆ ในบริเวณที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผื่นแดง ผิวหนังเติบโตคล้ายหูด ฝ้าสีขาวในปาก มีไข้ อ่อนเพลีย หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงเป็นอันตรายต่อหัวใจและระบบประสาทได้
    • โรคหนองใน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางทวารหนัก ปากและช่องคลอด มักส่งผลกระทบต่อท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ อาจมีอาการเจ็บเมื่อปัสสาวะ มีหนองออกมาจากองคชาต ปวดหรือบวมในลูกอัณฑะ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงเกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ชายได้
    • โรคตับอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี หรือ ซี ที่สามารถแพร่กระจายผ่านการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสผ่านสิ่งของ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางทวารหนัก ทางปาก ช่องคลอด และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทำให้เกิดอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ตับเสียหายอย่างถาวรและอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ ภาวะตับวาย และเสียชีวิตได้

    การใช้สารเสพติด สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    ความรู้สึกแปลกแยก แรงกดดัน การถูกกดขี่ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้บางคนอาจหาทางออกด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งตับ โรคหัวใจ หรืออาจส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ขาดสติ ทะเลาะวิวาท หรืออาจพลาดมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจจนอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้

    โรคมะเร็ง

    ผู้ชายทุกคนรวมถึงเกย์มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลูกอัณฑะ และมะเร็งลำไส้ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ติดเชื้อเอชไอวี เคยเป็นหูดที่อวัยวะเพศ ติดเชื้อไวรัสเริม ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เคยติดเชื้อหนองในเทียม และสูบบุหรี่จัด อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดเนื้องอกในเยื่อบุทวารหนักและกลายเป็นมะเร็งทวารหนักได้เช่นกัน

    ปัญหาสุขภาพจิต

    ปัญหาสุขภาพจิตที่มักเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นเกย์ มีดังนี้

    ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการฆ่าตัวตาย

    ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเพศทางเลือก เนื่องจากบางสังคมหรือบางครอบครัวไม่เปิดรับในความหลากหลายทางเพศ จนอาจทำให้เกย์หลายคนต้องปิดบังตัวตนจนเกิดเป็นความกดดันและความเครียด ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

    งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Archive of The Western Journal of Medicine ปี พ.ศ. 2543 ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ พบว่า เกย์มีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่รักเพศตรงข้าม 6 เท่า ปัจจัยเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่านิยมทางสังคมที่ไม่ยอมรับ การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ตั้งแต่อายุยังน้อย ประสบการณ์รักร่วมเพศครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย รวมไปถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

    ความรุนแรง

    ในบางสังคมหรือบางครอบครัวที่ไม่ยอมรับในความหลากหลายทางเพศอาจใช้ความรุนแรงกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเพศทางเลือก โดยอาจเริ่มจากการดูหมิ่นด้วยคำพูดดูถูก ทำร้ายจิตใจและขยายไปสู่การทารุณกรรมทางร่างกาย ความรุนแรงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการฆ่าตัวตายได้

    โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Dysmorphia)

    โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองหรือโรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ เป็นภาวะสุขภาพจิตที่ทำให้รู้สึกกังวลกับข้อบกพร้องของร่างกายตัวเอง เป็นโรคที่มักพบในวันรุ่น ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น มองตัวเองในกระจกบ่อยครั้ง พยายามหาทางปกปิดจุดบกพร่อง โดยโรคนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง และอาจฆ่าตัวตายได้

    ปัญหารูปร่างหน้าตามักพบบ่อยในผู้ชายที่เป็นเกย์หรือมีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความผิดปกติของการกิน อาจกินอาหารน้อยลงจนกลายเป็นโรคกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) หรือโรคล้วงคอ (Bulimia) นอกจากนี้ ยังอาจใช้อาหารเสริมที่ไม่ดีหรือใช้อะนาโบลิกสเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) ที่เป็นสารสเตียรอยด์มีฤทธิ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งหากใช้ในระยะเวลานานอาจนำไปสู่ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอัณฑะหดเล็กได้

    การป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเกย์

    เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ลดความเสี่ยงปัญหาทางสุขภาพกายและจิตใจ การรู้วิธีป้องกันความเสี่ยงอาจช่วยได้ ดังนี้

    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอุจจาระและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และควรใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทางปาก เช่น เริมที่ปาก นอกจากนี้ ควรใช้สารหล่อลื่นที่เหมาะสมกับประเภทของถุงยางที่ใช้ เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ และถุงยางอนามัยแตก
    • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย นื่องจากการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้งอาจเพิ่มโอกาสในการเสี่ยงติดเชื้อจากคนอื่น ๆ ได้
    • ฉีดวัคซีน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ เช่น ไวรัสตับอักเสบ ควรฉีดวัคซีนเมื่อต้องเดินทางไปประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อประมาณ 1 เดือน หรือเมื่อต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชพีวี ผู้หญิงและผู้ชายควรฉีดวัคซีนเอชพีวี อายุ 9-26 ปี โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12 ปี เนื่องจากเชื้อเหล่านี้อาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นำไปสู่อาการร้ายแรง เช่น ภาวะตับวาย มะเร็งตับ การเสียชีวิต โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • ใช้ยาเพร็พ (PrEP) เป็นยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบและมีโอกาสสัมผัสเชื้อ ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ยาเพร็พเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ก่อนการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยคุณหมอจะให้รับประทานยาเพร็พทุกวัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาด้านสุขภาพจากคุณหมอและความเสี่ยงที่เป็นไปได้
    • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คู่รักควรเข้ารับการตรวจความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นและป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น
    • จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้สารเสพติด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอาจทำให้รู้สึกมึนเมา ขาดสติ และมีแนวโน้มเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือใช้สารเสพติดอาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งตับ โรคจิตเภท
    • ตรวจคัดกรองมะเร็ง เนื่องจากผู้ชายอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันและสามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
    • รักษาสุขภาพอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก เพื่อให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอล ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น
    • พยายามอยู่ในสังคมและครอบครัวที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ การเปิดเผยรสนิยมทางเพศอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย คลายความตึงเครียดลงได้ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่อสุขภาพจิต จึงควรเข้าไปอยู่ในสังคมเพื่อนและครอบครัวที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก
    • ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสุขภาพจิต หากถูกบีบบังคับทางสังคมหรือเกิดปัญหาอื่น ๆ จนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาและลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา