backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Transgender คือใคร ทำไมต้องแปลงเพศ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 20/09/2023

Transgender คือใคร ทำไมต้องแปลงเพศ

Transgender หรือทรานส์เจนเดอร์ คือ บุคคลข้ามเพศ  ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ผู้ชายที่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงที่รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชาย โดยทรานส์เจนเดอร์จำนวนไม่น้อย เลือกรับฮอร์โมนเพศตรงข้าม เพื่อให้ตนมีรูปร่างหรือลักษณะใกล้เคียงกับเพศที่อยากเป็น และบางรายอาจเลือกแปลงเพศ เพื่อให้ตนมีลักษณะใกล้เคียงกับเพศที่อยากเป็นมากที่สุด

ความทุกข์ใจในเพศสภาพของ Transgender คืออะไร

ความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria) เป็นอาการหนึ่งซึ่งพบได้ในทรานส์เจนเดอร์ หมายถึง ความไม่พอใจที่อัตลักษณ์ทางเพศของตนไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด

สัญญาณที่อาจพบได้ของผู้มีความทุกข์ใจในเพศสภาพ คือ

  • ขาดความมั่นใจในตัวเอง
  • ไม่อยากเข้าสังคม ออกห่างสังคม
  • ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • ใช้ชีวิตเสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น เช่น เล่นกีฬาโลดโผน เล่นการพนัน พึ่งยาเสพติด

เมื่อผู้มีความทุกข์ใจในเพศสภาพไปพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ อาจได้รับการรักษา ดังนี้

  • บำบัดทางจิตวิทยา เช่น การพูดคุยกับนักบำบัด ระบายปัญหา ความรู้สึก ความเครียด การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีแก้ไข หรือหาทางออก
  • บำบัดด้วยฮอร์โมน เพื่อให้มีลักษณะหรือรูปร่างของเพศที่อยากเป็น อาจโดยการฉีด ทา หรือรับประทานยาฮอร์โมน
  • ผ่าตัดแปลงเพศ โดยมีทั้งจากชายเป็นหญิง และหญิงเป็นชาย

การบำบัดด้วยฮอร์โมนสำหรับ Transgender

สำหรับทรานส์เจนเดอร์ที่ต้องการรับฮอร์โมนของเพศตรงข้ามอาจใช้วิธีกิน ฉีด หรือทาบนร่างกาย เพื่อสร้างความรู้สึกแง่บวกให้ตัวเอง ด้วยการมีลักษณะของเพศตรงข้าม ทั้งนี้ ไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนมาใช้เองเพราะอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพ จากการบริโภคฮอร์โมนเกินขนาด

สำหรับผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง ฮอร์โมนที่ต้องรับเข้าสู่ร่างกาย คือ เอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งทำให้เสียงแหลมสูง มีหน้าอก และขนบนร่างกายลดลง ตรงกันข้าม ผู้หญิงที่อยากเป็นผู้ชายจะรับประทานเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เพื่อให้เสียงทุ้มใหญ่ มีหนวดขึ้น ขนดก และมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่ม

ทรานส์เจนเดอร์ที่บำบัดด้วยฮอร์โมนอาจจะไม่ได้ผลทันที อาจใช้เวลาเป็นเดือน โดยผลที่แสดงออกมาในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ ทรานส์เจนเดอร์ยังจำเป็นต้องรับฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลักษณะของเพศตรงข้ามแสดงออกต่อไป ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีแปลงเพศแล้ว ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการรับฮอร์โมนระยะยาว มีดังนี้

  • เป็นสิว
  • มีไขมันในเลือดสูง
  • ผมร่วง หัวล้าน
  • เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
  • เกิดนิ่วในถุงน้ำดี
  • น้ำหนักลด
  • หลอดเลือดดำอุดตัน
  • เสี่ยงเป็นมะเร็ง

การแปลงเพศสำหรับ Transgender

ปัจจุบัน การแปลงเพศสามารถทำได้ทั้งจากเพศสภาพชายเป็นหญิง และหญิงเป็นชาย อย่างไรก็ตาม ทรานส์เจนเดอร์จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาของคุณหมอก่อน ดังนี้

  • อายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ (ในกรณีอายุ 18 ปีหรือยังไม่ถึง 20 ปี จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน)
  • ผ่านการประเมินสภาพจิตใจ และมีใบรับรองจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 คน
  • ใช้ชีวิตในฐานะเพศตรงข้ามมาเกิน 1 ปี
  • ใช้ฮอร์โมนเพศตรงข้ามมาเกิน 1 ปี
  • สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรค เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคจิตเภท

สำหรับขั้นตอนการแปลงเพศคร่าว ๆ มีดังนี้

แปลงเพศจากชายเป็นหญิง

  • สร้างช่องคลอดเทียมโดยใช้ผิวหนังขององคชาต
  • ปรับแนวท่อปัสสาวะให้ไหลลงด้านล่าง
  • ตกแต่งจุดที่ผ่าตัดเป็นคลิตอริส แคมนอก แคมใน

แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย

  • ผ่าตัดนำเต้านมออก
  • ปรับลักษณะของหน้าอกให้เหมือนของผู้ชาย
  • ผ่าตัดนำอวัยวะสืบพันธุ์ออกจากร่างกาย เช่น มดลูก รังไข่
  • ผ่าตัดปิดช่องคลอด
  • ยืดท่อปัสสาวะ โดยใช้เยื่อบุช่องคลอด
  • สร้างอวัยวะเพศเทียมด้วยผิวหนังบริเวณโคนขาหรือหน้าท้อง
  • สร้างถุงอัณฑะเทียมโดยใช้เนื้อเยื่อของแคมใหญ่

ข้อแตกต่างระหว่างการแปลงเพศจากชายเป็นหญิงและจากหญิงเป็นชาย คือจากชายเป็นหญิง ทุกขั้นตอนจะผ่าตัดครั้งเดียวโดยใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ในขณะที่จากหญิงเป็นชายต้องแบ่งการผ่าตัดออกเป็น 2-3 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างระหว่างการผ่าตัดหน้าอกและการผ่าตัดอวัยวะสืบพันธุ์ประมาณ 3-6 เดือน เพื่อไม่ให้ร่างกายบอบช้ำจนเกินไป และต้องรอให้ฟื้นตัวก่อนผ่าตัดครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม ในการแปลงเพศจากหญิงเป็นชายสามารถเลือกได้ว่าจะผ่าตัดอย่างเต็มรูปแบบ หรือแค่เพียงบางส่วน เช่นต้องการผ่าตัดหน้าอกเท่านั้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 20/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา