ขนนิ้วเท้า เป็นเรื่องปกติที่อาจมีได้ทุกคน เนื่องจากร่างกายของคนมีเส้นขนขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ อยู่ทั่วร่างกาย แต่หากมีอาการขนนิ้วเท้าเยอะผิดปกติ ก็อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติพันธุกรรม ผลข้างเคียงของยา ความผิดปกติของรังไข่ การศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้มีขนนิ้วเท้าเยอะ อาจทำให้สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุที่ทำให้ขนนิ้วเท้าขึ้นเยอะ
การมีขนเท้าที่เยอะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะร่างกายของทุกคนมีเส้นขนอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นผม ขนแขน ขนขา หรือแม้แต่ขนนิ้วเท้า แต่สาเหตุของการมีขนนิ้วเท้าเยอะนั้น อาจมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
ความผิดปกติทางพันธุกรรม
กระบวนการทางพันธุกรรมสามารถที่จะกำหนดได้ว่าจะมีเส้นขนมากหรือน้อย รวมไปถึงความแตกต่างของสี ลักษณะของเส้นขน และตำแหน่งของเส้นขน ดังนั้น การมีขนดกบริเวณนิ้วเท้า อาจเป็นผลมาจากพันธุกรรมที่ได้รับมาจากพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่
ผลข้างเคียงของยา
ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้จำนวนขนในร่างกายมีการเพิ่มจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ขนบริเวณนิ้วเท้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเส้นผม ขนแขน หรือขนขา และขนในบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย โดยตัวยาที่อาจเพิ่มจำนวนเส้นขนในร่างกาย ได้แก่
- ยาดานาซอล (Danazol)
- ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine)
- ยากลุ่มอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic steroids)
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
- ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- ยาเพรดนิโซน (Prednisone)
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่อายุยังน้อย หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยมีขนบริเวณนิ้วเท้า หรือมีขนบริเวณนิ้วเท้าแต่เป็นขนที่มีสีอ่อน เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายมีการเติบโตขึ้น ฮอร์โมนในร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ ขนเหล่านั้นก็อาจมีการปรับให้มีสีขนที่เข้มขึ้น และเพิ่มจำนวนของเส้นขนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ความผิดปกติของรังไข่
รังไข่มีส่วนที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายมีความสมดุล ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในรังไข่ก็จะส่งผลต่อระดับฮอร์โมน และมีส่วนในการเพิ่มจำนวนของเส้นขนได้ ซึ่งความผิดปกติหรือโรคที่เกี่ยวกับรังไข่และส่งผลต่อการมีภาวะขนดก อาจเกิดจาก
- ภาวะรังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป (Ovarian hyperthecosis)
- เนื้องอกรังไข่
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome: PCOS)
ความผิดปกติของต่อมหมวกไต
ในต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า แอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นขนทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และถ้าหากต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ หรือมีภาวะความผิดปกติใดที่เกิดขึ้นที่ต่อมหมวกไตก็จะส่งผลให้มีขนดกขึ้นได้
มีการไหลเวียนเลือดที่ดี
ด็อกเตอร์นิโคล จี (Dr. Nicole G) ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์ Lexington Podiatry และอธิบายว่า การมีขนนิ้วเท้าเยอะอาจจะดูไม่น่าพิสมัยสำหรับหลายคน แต่การที่ขนดก เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าในร่างกายมีระบบการไหลเวียนที่ดี
วิธีกำจัดขนนิ้วเท้า
วิธีการกำจัดขนนิ้วเท้านั้นไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากการกำจัดขนในบริเวณอื่นๆ อย่างขนแขน ขนขา หรือขนรักแร้เลย โดยสามารถที่จะใช้วิธีการกำจัดขนที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล
สำหรับผู้ที่ต้องการกำจัดขนแบบชั่วคราว อาจใช้วิธี
- การถอนด้วยแหนบ
- โกนด้วยมีดโกนหรือที่โกนหนวด
- การแว็กซ์ขน
- ใช้น้ำยาสำหรับกำจัดขน
- การกำจัดขนโดยใช้ด้าย
- ทำการเลเซอร์กำจัดขน
- กำจัดขนด้วยกระแสไฟฟ้า
วิธีดูแลผิวหลังการกำจัดขน
หลังจากกำจัดขนในส่วนที่ไม่ต้องการออกไปแล้ว การบำรุงหลังการกำจัดขนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อที่จะได้ดูแลผิวหนังในบริเวณนั้นที่อาจจะมีการระคายเคืองหรือบอบบางหลังจากที่มีการกำจัดขน โดยสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- ทำความสะอาดผิวหลังกำจัดขน โดยอาจจะล้างผิวด้วยน้ำสบู่เพื่อลดการระคายเคือง
- ทำการประคบเย็น เพื่อลดการระคายเคืองและการกระแทกในกรณีที่มีการแว็กซ์ขน
- ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของตัวยาคอร์ติโซน เพื่อลดอาการอักเสบและอาการบวม
- ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่ไม่มีน้ำหอม เพื่อช่วยลดการระคายเคืองของผิวและลดการอักเสบของผิวหนัง