ผลข้างเคียงจากการฉีด Botox
โดยทั่วไป ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดโบท็อก ประกอบด้วย
- เจ็บ บวม หรือเกิดรอยช้ำ บริเวณที่ฉีดโบท็อก
- ปวดหัว
- ตาแห้ง หรือน้ำตาไหลมากกว่าปกติ
- ขยับปากหรือยิ้มไม่สะดวก น้ำลายไหล
โดยอาการต่าง ๆ เหล่านั้นมักค่อย ๆ หายไป นอกจากนั้น การฉีดโบท็อกโดยผู้ที่ขาดประสบการณ์ หรือตามคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผู้ที่เข้ารับการฉีด เผชิญกับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น คิ้วตกหนังตาตก ใบหน้าแข็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น มีปัญหาในการกลืนอาหารหรือของเหลวพูดหรือหายใจลำบาก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาจนกระทั่งหายดีกลับมาเป็นปกติ
วิธีการดูแลตัวเองหลังฉีด Botox
หลังการฉีดโบท็อก ควรดูแลตัวเอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ในช่วง 1-2 ชั่วโมง แรกหลังฉีดโบท็อก ควรพยายามขยับกล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับการฉีด เพื่อให้โบท็อกกระจายเข้าสู่กล้ามเนื้อได้มากขึ้น
- ในช่วง 4-6 ชั่วโมงหลังฉีดโบท็อก ควรเลี่ยงการนอนราบ เพราะการนอนราบ อาจทำให้โบท็อกเคลื่อนจากบริเวณที่ฉีดได้ ควรนอนยกศีรษะสูงขึ้นโดยใช้หมอนสูง 2 ใบ นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการนวดหรือกดบริเวณใบหน้า เพื่อป้องกันโบท็อกเคลื่อนจากตำแหน่งที่ฉีดด้วย
- ในช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีดโบท็อก ควรเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความร้อน ไม่ว่าจากแสงแดดหรือห้องซาวน่า เพื่อป้องกันเหงื่อไหล เพราะอาจทำให้บริเวณที่ฉีดโบท็อกเกิดการระคายเคือง หรือเสี่ยงติดเชื้อได้
- หากบริเวณที่ฉีดโบท็อกมีอาการบวมแดง อาจใช้การประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง
Botox ใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเห็นผล
การฉีดโบท็อก มักเห็นผลภายใน 1-3 วันหลังจากการฉีด และผลของการฉีดโบท็อกหนึ่งครั้ง จะคงอยู่นานราว ๆ 3-6 เดือน ผู้ที่ต้องการให้ใบหน้าเต่งตึง ริ้วรอยแลดูตื้นขึ้น ควรฉีดสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลของโบท็อกคงอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ความเป็นไปได้จะต่ำมาก แต่การฉีดโบท็อกบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดอาการดื้อโบท็อก (Botox Resistance) หรือฉีดโบท็อกแล้วเห็นผลน้อยหรือไม่เห็นผลเลย โดยเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีขึ้นมาทำลายโบท็อกเมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย
Botox มีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปแล้ว การฉีดโบท็อกที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญถือว่ามีความปลอดภัย สามารถฉีดโบท็อกได้ ยกเว้นบุคคลบางกลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ หญิงในระยะให้นมบุตร ผู้ที่แพ้โปรตีนในนมวัว และผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย