backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ผิวหนัง หย่อน คล้อย สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ผิวหนัง หย่อน คล้อย สาเหตุ และการรักษา

ผิวหนัง หย่อน คล้อย มีสาเหตุหลักจากการลดลงของโปรตีนอิลาสติน (Elastin) และคอลลาเจน (Collagen) ในร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผิวหนังส่วนต่าง ๆ ทั้งใบหน้า หน้าอก หน้าท้อง และสะโพก สูญเสียความยืดหยุ่น ชุ่มชื้น เต่งตึง นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากการที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว การตั้งครรภ์ และโรคบางอย่าง ทั้งนี้ ผิวหนัง หย่อน คล้อย อาจทำให้กระชับได้ โดยการออกกำลังกายด้วยการเล่นเวท บริโภคคอลลาเจนทดแทน หรือบำบัดด้วยแสงเลเซอร์ และอาจป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงแสงแดดซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อิลาสตินและคอลลาเจนในผิวหนังลดลง

ผิวหนัง หย่อน คล้อย เกิดจากอะไรได้บ้าง

ผิวหนังหย่อนคล้อย อาจเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า คาง ลำคอ หน้าแขน หน้าท้อง หรือสะโพก โดยมีสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายผลิตโปรตีนอิลาสติน และคอลลาเจนน้อยลง โดยอิลาสตินมีคุณสมบัติทำให้ผิวหนังยืดหยุ่น ขณะที่คอลลาเจนช่วยทำให้ผิวหนังแข็งแรงและเต่งตึง ทั้งนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ระดับโปรตีนทั้ง 2 ชนิดลดลง ยังเกิดได้จากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตโดยตรงและไม่ได้ทาครีมหรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ และการขาดวิตามินซี
  • การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้น ผิวหนังจะขยายออกเพื่อรองรับมวลร่างกายที่มากขึ้น และเมื่อน้ำหนักลดลง ผิวหนังที่ขยายออกไม่สามารถหดตัวกลับได้ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดผิวหนัง หย่อน คล้อย
  • การตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ ผิวหนังบริเวณหน้าท้องจะขยายออกเพื่อรองรับครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายขยายออก และหลังจากคลอดบุตร ผิวหนังส่วนหน้าท้องและส่วนที่ขยายออกอาจหดกลับได้ไม่ทั้งหมด ทำให้เกิดเป็นผิวหนังหย่อน คล้อย
  • โรคบางอย่าง เช่น โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos syndrome หรือ EDS) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังสามารถยืดออกได้มากกว่าปกติ รวมถึงมีข้อต่อที่ยืดหยุ่นมากกว่าคนทั่วไป

ผิวหนังหย่อนคล้อย รักษาอย่างไร

ผิวหนังหย่อนคล้อย อาจเสริมสร้างให้กระชับขึ้นได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • การออกกำลังกายแบบแรงต้าน เช่น การยกน้ำหนัก การวิดพื้น การทำท่าสควอช (Squat) จะช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและทำให้ผิวหนังที่หย่อนคล้อยกระชับขึ้นได้ โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณต้นแขนและต้นขา
  • การรับประทานคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม อาจช่วยทดแทนคอลลาเจนในร่างกายที่สูญเสียไปเมื่ออายุมากขึ้น หรือลดลงเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดด งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของคอลลาเจนทดแทนต่อผิวหนัง เผยแพร่ในวารสาร Journal of Drugs in Dermatology ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยระบุว่า การรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนเป็นประจำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (ตั้งแต่ 4-24 สัปดาห์) อาจมีประสิทธิภาพเพิ่มความหนาแน่นของคอลลาเจนในชั้นผิว ซึ่งช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง ยืดหยุ่น และชุ่มชื้น รวมทั้งยังช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น
  • การบำบัดด้วยแสงเลเซอร์ หรือการใช้ความร้อนจากแสงเลเซอร์ จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนและอิลาสตินเพิ่มขึ้นและทำให้คอลลาเจนในผิวหนังหดตัว ส่งผลให้ผิวหนังส่วนที่หย่อนคล้อย ดูแน่นหรือกระชับกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยแสงเลเซอร์ ควรทำติดต่อกันประมาณ 3-6 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
  • การผ่าตัดยกกระชับผิวหนัง หรือการผ่าตัดผิวหนังส่วนเกินออก แล้วเย็บส่วนที่เหลือเข้าด้วยกัน อาจช่วยให้ผิวหนังที่หย่อนคล้อยกระชับขึ้นได้ แต่มีข้อเสียคือ อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ และต้องใช้เวลาฟื้นตัวจากบาดแผลประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน

ผิวหนังหย่อนคล้อย ป้องกันอย่างไร

ปัญหาผิวหนังหย่อนคล้อย อาจป้องกันได้หากปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดและการอาบแดด ควรทาครีมกันแดด รวมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ป้องกันหากต้องเผชิญกับแสงแดด
  • รับประทานผักหรือผลไม้ต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น ผักเคล พาสลีย์ พริกหยวก ฝรั่ง ส้ม มะนาว แคนตาลูป
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
  • นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายและผิวหนังฟื้นฟูและซ่อมแซมตนเอง
  • งดสูบบุหรี่ หรือพยายามเลิกสูบบุหรี่
  • ไม่เร่งลดน้ำหนักในระยะเวลาอันสั้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา