สิว เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เชื้อแบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ซึ่งสิวนั้นมีทั้ง สิวอักเสบ และสิวที่ไม่อักเสบ โดยสิวอักเสบอาจเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของผิวหนังในบริเวณที่มีต่อมไขมัน แต่ส่วนใหญ่มักพบได้บริเวณใบหน้า คอ หน้าอก และแผ่นหลัง อาการของสิวอักเสบอาจทำให้มีเกิดความเจ็บปวด บวม แดง หากรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นถาวร และอาจสร้างความกังวลให้สูญเสียความมั่นใจ
สิวอักเสบ คืออะไร
สิวอักเสบ เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes หรือ P.acnes) เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และน้ำมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) เกิดการอุดตันในรูขุมขนและเกิดอาการอักเสบ โดยอาจเริ่มเกิดขึ้นในวัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายเพิ่มการผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า แอนโดรเจน โดยฮอร์โมนนี้อาจทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตน้ำมันออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการอุดตันได้ง่ายขึ้น ลักษณะของสิวอักเสบอาจเป็นสีแดงหรือบวม อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ระคายเคือง คัน
สิวอักเสบ ประเภทต่าง ๆ
สิวอักเสบประเภทต่าง ๆ อาจมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป ซึ่งสิวอักเสบมีหลายประเภท ดังนี้
- สิวอุดตันที่เกิดการอักเสบ (Inflamed Comedone) มีลักษณะเป็นสิวหัวดำ หรือสิวหัวขาวที่เกิดอาการอักเสบและบวมแดง
- สิวอักเสบแบบเป็นก้อน (Nodules) สิวแบบนี้จะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปในผิวหนัง ไม่มีหนองที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
- สิวหัวหนอง (Pustule) เป็นสิวขนาดใหญ่ มีตุ่มหนองสีขาวหรือสีเหลือง ซึ่งบริเวณผิวหนังโดยรอบสิวอาจปรากฏเป็นสีแดง
- สิวตุ่มแดง (Papule) มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง ๆ ไม่มีหนองอยู่ข้างใน เกิดขึ้นใกล้กับผิวชั้นนอก
- สิวซีสต์ (Cystic Acne) เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง เกิดขึ้นบริเวณใต้ผิว มีขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยหนอง และเจ็บปวดเมื่อถูกสัมผัส
- สิวหัวช้าง เป็นสิวที่มีอาการอักเสบชนิดรุนแรงที่สุด ซึ่งก็คล้ายกับสิวซีสต์ที่เกิดอยู่ใต้ผิว มีหนองอยู่เต็ม มีขนาดใหญ่ และจะรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส
สิวอักเสบ มักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นบนร่างกาย บริเวณคอ หน้าอก หลัง ไหล่ แขนช่วงบน และบริเวณลำตัว
การรักษาสิวอักเสบ
สิวอักเสบอาจแพร่กระจายและหากรักษาไม่ถูกวิธี เช่น การบีบ เจาะ สัมผัสบ่อย ๆ อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นและส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ในการรักษาสิวอักเสบ และรีบรักษาให้เร็วที่สุด โดยคุณหมออาจจะแนะนำให้ใช้ยารักษาสิวที่หาซื้อได้ทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการก่อน แต่หากสิวอักเสบมีความรุนแรง คุณหมออาจสั่งจ่ายยาที่ใช้ในการรักษาสิว ซึ่งการรักษานั้นอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะเห็นผล
ยารักษาสิวอักเสบตามร้านขายยา
ยารักษาสิวอักเสบมีอยู่หลายประเภท ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาจมีส่วนผสมหลัก ๆ ที่มักพบในตัวยา ดังนี้
- เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ส่วนผสมนี้จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย P.acnes ซึ่งอาจติดอยู่ในรูขุมขน และช่วยลดการอักเสบลงได้ แต่ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยก็คือ อาจทำให้ผิวแห้ง จึงควรใช้แต้มลงบนหัวสิวเท่านั้น ไม่ควรทาทั้งใบหน้า
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ส่วนผสมนี้จะช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไปจากรูขุมขน ทั้งยังช่วยลดการอักเสบ และป้องกันการกลับมาของสิวด้วย สามารถใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิคได้ทั่วทั้งใบหน้า แต่ควรทามอยส์เจอไรเซอร์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้
- กำมะถัน อาจพบได้ในยารักษาสิวแบบต่าง ๆ แต่ใช้ได้ผลดีที่สุดกับสิวที่ไม่อักเสบ หรือมีความรุนแรงน้อย ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยรักษาสิวอักเสบโดยตรง แต่ก็อาจช่วยบรรเทาอาการไม่ให้สิวอักเสบแย่ลง
ขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวอักเสบเบื้องต้น
การใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวอักเสบเบื้องต้นด้วยตนเอง อาจทำได้ดังนี้
- ล้างหน้าด้วยคลีนเซอร์ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิค จากนั้น ซับหน้าเบา ๆ
- ใช้ยาแต้มสิวที่มีส่วนผสมของเบนโซอิล เปอร์ออกไซด์
- ใช้ยาทาปฏิชีวนะ เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin)
- ปรับเปลี่ยนกิจวัตรการดูแลผิวประจำวัน เช่น เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน ไม่ขัดผิวหน้าแรง ๆ
การใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวอักเสบด้วยตนเองนั้น อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะเริ่มมองเห็นความแตกต่าง
สิวอักเสบมักไม่ค่อยตอบสนองต่อยารักษาสิวตามร้านขายยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการแพร่กระจายหรือการเป็นซ้ำ หากลองรักษาเองโดยใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวอักเสบด้วยตนเองเกิน 3 เดือนแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนัง คุณหมอจะได้แนะนำวิธีการรักษาสิว ดูแลสิวที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
การรักษาสิวอักเสบโดยแพทย์
วิธีรักษาสิวอักเสบอาจเป็นการยับยั้งการผลิตไขมัน กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเพื่อไม่ให้รู้ขุมขนอุดตัน รวมถึงการจำกัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย สำหรับวิธีรักษาสิวอักเสบ อาจทำได้ดังนี้
- ยาคุมกำเนิด เป็นยาคุมที่มีส่วนผสมของโปรเจสติน (Progestin) และเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกอาจต้องรับประทานยาคุมร่วมกับวิธีการรักษาสิวแบบอื่น ๆ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ น้ำหนักเพิ่ม เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ นอกจากนั้น ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนเกินที่ผิวหนัง ลดรอยแดง และการอักเสบ ในช่วง 2-3 เดือนแรก อาจใช้ยาปฏฺิชีวินะเฉพาะที่ในตอนเช้า และในช่วงเย็นอาจใช้เรตินอยด์ร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) มักถูกใช้ร่วมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อไม่ให้สิวดื้อต่อการใช้ยา
- ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวปานกลางหรือรุนแรง นอกจากนั้น ยังอาจเหมาะกับสิวที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาสิวแบบอื่น ๆ ผลข้างเคียงจากไอโซเทรติโนอิน อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า ทารกในครรภ์พิการ ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยาชนิดนี้อาจต้องไปพบคุณหมอเป็นประจำ เพื่อติดตามผลข้างเคียง
- เลเซอร์และแสงบำบัด ซึ่งอาจมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่ เลเซอร์พัลส์ดาย (Pulsed Dye Laser หรือ PDL) การบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก ส่วนใหญ่อาจต้องไปรักษาหลายครั้ง ตามที่แพทย์กำหนด
วิธีการดูแลตัวเองไม่ให้เกิดสิวอักเสบ
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อควบคุมสิวอักเสบ อาจทำได้ดังนี้
- ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือรอยแผลเป็นได้
- อาบน้ำทันทีหลังจากทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อหรือความมัน
- สระผมเป็นประจำทุกวันหากผมมัน เนื่องจากความมันและสิ่งสกปรกบนเส้นผม อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม อาจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิวเพราะอาจทำให้โอกาสในการเกิดสิวลดลง
- หลีกเลี่ยงการใช้สครับขัดผิว มาสก์หน้า เพราะอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง และอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้
- พยายามปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยครีมกันแดด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดสิว (Noncomedogenic) เนื่องจากยารักษาสิวบางชนิดอาจทำใหผิวไวต่อแสงแดด