backup og meta

รักษาสิว ทำอย่างไรได้บ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

    รักษาสิว ทำอย่างไรได้บ้าง

    สิวเป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดจากสิ่งสกปรกอุดตันรูขุมขน อาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง หรือทำให้เกิดแผลเป็น และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึก การรักษาสิวตั้งแต่เริ่มต้นอาจช่วยลดปัญหาผิวที่เกิดจากสิว เช่น แผลเป็น รอยแดง และป้องกันความรุนแรงของสิวได้ ทั้งนี้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดสิวอักเสบรุนแรง เพราะอาจทำให้ต้องใช้กระบวนการและระยะเวลา รักษาสิว เพิ่มขึ้น

    สิว คืออะไร

    สิว คือ ภาวะทางผิวหนังที่เกิดขึ้นจากสิ่งสกปรก น้ำมัน แบคทีเรีย และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันของรูขุมขน ทำให้เกิดสิว ทั้งชนิดไม่อักเสบ เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวเสี้ยน และสิวอักเสบ มีตุ่มหนอง ผิวโดยรอบเป็นสีแดง และอาจมีอาการเจ็บปวด สิวสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในวัยรุ่นและวัยกลางคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

    สิวสามารถเกิดขึ้นแบบเรื้อรังและอาจกลายเป็นแผลเป็นได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว การรักษาสิวที่ถูกวิธีตั้งแต่เกิดสิวเนิ่น ๆ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสิวรุนแรงได้

    วิธีการรักษาสิวที่นิยมใช้

    การรักษาสิวมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการเกิดสิว ป้องกันการเกิดแผล หรือปัญหาผิวอื่น ๆ และทำให้รอยแผลนูนดูจางลง วิธีการรักษาสิวที่นิยมใช้ เช่น การใช้ยารักษาสิว ซึ่งยารักษาสิวจะเข้าไปรักษาต้นเหตุของสิว ลดการผลิตน้ำมัน ลดอาการบวม และรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม  วิธีและระยะเวลาในการรักษาสิวอาจขึ้นอยู่กับอายุ และความรุนแรงของสิวด้วย

    ยาที่นิยมใช้รักษาสิว มีดังนี้

    ยารักษาเฉพาะที่

    ยาฆ่าเชื้อเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวหนัง ช่วยลดจำนวนสิวหัวขาวและสิวหัวดำ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ควรทาในปริมาณพอเหมาะวันละ  2 ครั้ง หลังทำความสะอาดผิว 20 นาที

    ผลข้างเคียง : ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ผิวแห้งตึง แสบร้อน คัน รอยแดง ผิวหนังลอก

    • เรตินอยด์และยาคล้ายเรตินอยด์

    มักใช้รักษาสิวในระดับปานกลาง เป็นยาที่มีกรดเรติโนอิก (Retinoic acids) หรือเทรติโนอิน (Tretinoin) ช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน มีลักษณะเป็นครีม เจล และโลชั่น สามารถใช้ยาชนิดนี้ในตอนเย็น โดยทาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จากนั้นทาทุกวันเมื่อผิวเริ่มปรับสภาพได้

    ผลข้างเคียง : อาจทำให้ผิวไวต่อแสง ผิวแห้งและแดง โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวสีเข้ม

  • ยาปฏิชีวนะ
  • ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ลดรอยแดง และลดการอักเสบ ในช่วง 2-3 เดือนแรก คุณหมออาจให้ใช้เรตินอยด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะ โดยทายาปฏิชีวนะในตอนเช้าและทาเรตินอยด์ในตอนเย็น นอกจากนี้ คุณหมอมักให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เพื่อลดการดื้อยาปฏิชีวนะ

    ผลข้างเคียง : ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย มีรอยแดงและรอยไหม้บนผิวหนัง ผิวหนังลอก

    • กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid)

    ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของการเกิดสิว และช่วยปรับสภาพสีผิวที่อาจเปลี่ยนแปลงในขณะเกิดสิว โดยคุณหมออาจสั่งยาที่มีกรดอะเซลาอิกให้ใช้รักษาสิวระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

    ผลข้างเคียง : ผิวหนังแดง และอาจระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย

    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)

    ใช้เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ และช่วยช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน

    ผลข้างเคียง : สีผิวเปลี่ยนแปลง และอาจระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย

    • แดพโซน (Dapsone)

    เหมาะสำหรับสิวอักเสบโดยเฉพาะผู้หญิง แนะนำให้ทาวันละสองครั้ง

    ผลข้างเคียง : ผิวแดง และผิวแห้งกร้าน

    ยารับประทาน

    • ยาปฏิชีวนะ

    เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโคไลด์ (Macrolide) เป็นยารับประทาน มักใช้รักษาสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง ช่วยลดแบคทีเรียโดยยาแมคโคไลด์เป็นยาทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาเตตราไซคลีนได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี คุณหมออาจให้ใช้ยาร่วมกับเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ เพื่อลดการดื้อยาปฏิชีวนะ

    ผลข้างเคียง : อาจทำให้ผิวไวต่อแสง

    • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

    เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินและฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่อาจต้องใช้เวลารักษานาน

    ผลข้างเคียง : น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้น เจ็บหน้าอก และคลื่นไส้ อาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

    • แอนตี้แอนโดรเจน (Anti-androgen agents)

    ช่วยป้องกันผลกระทบจากฮอร์โมนแอนโดรเจนต่อต่อมที่ผลิตน้ำมัน เป็นยาทางเลือกสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงวัยรุ่นหากรักษาด้วยยารับประทานปฏิชีวนะไม่ได้ผล

    ผลข้างเคียง : อาจรรู้สึกเจ็บปวดเต้านม

    ยากลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เป็นยาทางเลือก มักใช้ในผู้ที่มีสิวปานกลางหรือรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น ๆ

    ผลข้างเคียง : อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า

    รักษาสิว โดยไม่ใช้ยา

    การรักษาสิวด้วยวิธีดังต่อไปนี้อาจได้ผลดีกับบางคน หรืออาจต้องใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา

  • การรักษาด้วยแสง เป็นการฉายแสงลงบนผิวหนังเพื่อทำให้อาการของสิวดีขึ้น ทั้งนี้ แสงที่ใช้รักษาสิวอาจมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ
  • การลอกผิวด้วยสารเคมี มักใช้รักษาในผู้ที่มีสิวรุนแรง โดยคุณหมอจะใช้กรด เช่น กรดซาลิไซลิก กรดไกลโคลิก กรดเรติโนอิก ในการลอกเซลล์ผิวเก่าออก เพื่อให้เซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ การรักษาสิวด้วยวิธีนี้อาจต้องทำหลายครั้ง
  • การกดสิว คุณหมออาจใช้เครื่องมือกดสิวเพื่อกำจัดสิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือซีสต์ ที่ไม่ได้รักษาด้วยยา วิธีนี้อาจช่วยกำจัดสิ่งอุดตันได้เพียงชั่วคราว และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
  • ฉีดสเตียรอยด์ มักใช้รักษาสิวอักเสบ เพื่อช่วยให้สิวยุบตัวลงอย่างรวดเร็วและลดอาการเจ็บปวด แต่อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้ผิวหนังบาง ผิวบริเวณที่รักษาเปลี่ยนสี
  • วิธีรับมือกับสิวด้วยตัวเอง

    นอกจากการรักษาสิวแล้ว วิธีเหล่านี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวใหม่ และช่วยบรรเทาอาการของสิวได้

    • ทำความสะอาดผิวอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดเหงื่อ น้ำมัน และสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง
    • ไม่ควรขัดผิวบ่อยครั้งหรือรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะบริเวณที่ผิวบอบบาง เพราะอาจทำให้ระคายเคืองและเกิดสิวได้
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าหรือแกะเกาบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ เป็นแผลเป็น และอาจทำให้สิวรุนแรงขึ้น
    • ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือของใช้ส่วนตัวที่สัมผัสผิว เช่น ปลอกหมอน หมวก ผ้าเช็ดตัว เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดสิว
    • พักหน้าและใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเพียงอย่างเดียว เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวหลายชนิดรวมกัน หรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์บ่อยครั้งอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้ จึงควรใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวเพียงชนิดเดียว หรือใช้ยาตามคำแนะนำของคุณหมอประมาณ 4-6 เดือน เพื่อให้ได้ผลในการรักษามากที่สุด
    • เพิ่มการรักษา หากใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวมานาน 4-6 เดือนแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรเพิ่มผลิตภัณฑ์รักษาสิวชนิดที่สอง เช่น หากใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ผลิตภัณฑ์ตัวที่สองอาจเลือกที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Retinoids) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ขจัดสิ่งสกปรกและลดความมัน
    • หากสิวรุนแรงขึ้นควรเข้ารับการรักษาทันที เพื่อวินิจฉัยอาการ สาเหตุและระดับความรุนแรงของสิว จะได้รักษาได้อย่างเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา