บางครั้งอาจเกิดความสับสนระหว่างสิวฮอร์โมนและสิวยีสต์ (สิวที่เกิดจากเชื้อรา) เนื่องจากทั้งสองชนิดเป็นสิวที่เกิดภายในรูขุมขนเหมือนกัน แต่สาเหตุการเกิดสิวนั้นแตกต่างกัน สิวฮอร์โมน คือ สิวที่เกิดจากต่อมไขมันหลั่งซีบัมออกมาเคลือบผิวมากเกินไป เมื่อซีบัมหรือน้ำมันส่วนเกินรวมตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว จะทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิวฮอร์โมน ในขณะที่สิวยีสต์เกิดจากยีสต์ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังเพิ่มจำนวนมากเกินไปจนทำให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดเป็นสิวยีสต์ที่มักเป็นสิวอักเสบ บวมแดง คัน และระคายเคืองผิว
วิธีรักษาสิวฮอร์โมน
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการใช้ยา
- สิวหัวดำและสิวหัวขาว อาจรักษาด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่และลดการอุดตันของรูขุมขน อาจช่วยลดจำนวนของสิวมีหัวอย่างสิวหัวดำและสิวหัวขาวได้
- สิวอักเสบ อาจรักษาด้วยการใช้เรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ หรือเบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย และลดการอุดตันของรูขุมขน โดยอาจใช้แยกกันหรือใช้ร่วมกันก็ได้
- สิวซีสต์ อาจรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) อาจช่วยให้สิวยุบได้เร็วขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็น
- สิวปานกลางและรุนแรง อาจรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะและไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) โดยอาจใช้แยกกันหรือใช้ร่วมกันก็ได้
วิธีรักษาสิวฮอร์โมนอื่น ๆ
- การทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวของตัวเอง ไม่มีส่วนผสมที่อาจระคายเคืองผิว เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม พาราเบน
- การปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน เช่น ลดการบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตขัดสีอย่างข้าวขาว น้ำหวาน ขนมหวาน ลดการบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิว
- การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อรักษาสิว (Hormonal therapy) เช่น ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด อาจช่วยลดสิวได้ภายใน 2-3 เดือนหลังใช้ สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) อาจช่วยลดการลุกลามและลดความมันบนผิวหนังภายใน 2-3 สัปดาห์หลังใช้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา เพราะอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ หน้าอกคัดตึง หน้าอกขยาย
ทั้งนี้ หากรักษาสิวฮอร์โมนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น เรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ กรดซาลิไซลิก ไอโซเตรทติโนอิน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย