backup og meta

ไอโอดีน ประโยชน์ ที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/11/2021

    ไอโอดีน ประโยชน์ ที่ควรรู้

    ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุที่พบได้ในอาหารบางชนิด ร่างกายต้องการไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย และการทำงานที่สำคัญอื่น ๆ นอกจากนั้น ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และทารก ก็ต้องการไอโอดีนในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อพัฒนากระดูกและสมอง หากร่างกายขาดไอโอดีน อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารไอโอดีน โรคคอพอก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตไอโอดีนเองได้ จึงต้องบริโภคในรูปแบบของอาหารหรืออาหารเสริม 

    ไอโอดีน คืออะไร

    ไอโอดีน คือ แร่ธาตุที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ เช่น อาหารทะเล ปลา กุ้ง หอย สาหร่ายทะเล รวมถึงในอาหารบางชนิด ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ จำเป็นที่จะต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน หากรับประทานไอโอดีนมากเกินไปอาจส่งผลต่อร่างกายได้ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต่อมไทรอยด์อักเสบ แต่ถ้าหากร่างกายได้รับไอโอดีนน้อยก็อาจส่งผลให้เป็นโรคคอพอก ภาวะขาดไทรอยด์ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริการับรองว่าไอโอดีนชนิดโพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium Iodide) อาจช่วยป้องกันไม่ให้ต่อมไทรอยด์เสียหายจากการกลืนไอโอดีนกัมมันตรังสี และไอโอดีนยังอาจช่วยรักษาอาการตาแดง การติดเชื้อที่เหงือก รักษาแผล เป็นต้น

    ปริมาณไอโอดีนที่เหมาะสม

    ร่างกายควรได้รับไอโอดีนเฉลี่ยตามแต่ละช่วงวัย ดังนี้

    • ทารกอายุ 0-6 เดือน : 90 ไมโครกรัม/วัน 
    • ทารกอายุ 7-12 เดือน : 110 ไมโครกรัม/วัน 
    • เด็กหญิงและเด็กชายอายุ 1-8 ปี : 90 ไมโครกรัม/วัน  
    • เด็กหญิงและเด็กชายอายุ 9-13 ปี : 120 ไมโครกรัม/วัน 
    • เด็กหญิงและเด็กชายอายุ 14-18 ปี : 150 ไมโครกรัม/วัน 
    • ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป : 150 ไมโครกรัม/วัน
    • สตรีมีครรภ์ : 220 ไมโครกรัม/วัน 
    • สตรีให้นมบุตร : 270 ไมโครกรัม/วัน 

    ประโยชน์ของไอโอดีน 

    สำหรับประโยชน์ของไอโอดีนที่มีต่อร่างกาย มีดังนี้ 

    1. ช่วยให้ระบบการทำงานและการเจริญเติบโตของต่อมไทรอยด์เป็นปกติ โดยต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมน ซึ่งฮอร์โมนนี้ควบคุมการเผาผลาญ ควบคุมการเต้นของหัวใจ ควบคุมการทำงานของระบบประสาท การทรงตัว การเดิน การพูด และอื่น ๆ หากได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ลดลง อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือไฮโปไทรอยด์ 
    2. ลดปัจจัยการเป็นคอพอก ไทรอยด์อาจขยายใหญ่ได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือไฮโปไทรอยด์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ เมื่อได้รับไอโอดีนที่เพียงพออาจช่วยให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานได้อย่างสมดุล
    3. พัฒนาระบบประสาทระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ร่างกายของผู้หญิงต้องการไอโอดีนมากขึ้น เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารกในครรภ์ หากผู้หญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีน อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย ระบบประสาท และการได้ยินของทารก สำหรับผู้หญิงที่ให้นมบุตร ก็ต้องการไอโอดีนมากกว่าปกติเช่นกัน เนื่องจากทารกจะได้รับสารไอโอดีนจากการดื่มน้ำนมแม่
    4. รักษาการติดเชื้อ ยาทาภายนอกที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture Iodine) โพวิโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) ใช้แต้มแผล หรือรอยถลอกซึ่งอาจช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส 
    5. รักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นการรับประทานไอโอดีนกัมมันตรังสี โดยวิธีการรักษานี้อาจไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์เล็กลงและสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง ทั้งนี้ หากรับประทานไอโอดีนกัมมันตรังสีมากเกินไปก็อาจนำไปสู่ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ได้ การรับประทานไอโอดีนกัมมันตรังสีจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ
    6. รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ การรับประทานไอโอดีนกัมมันตรังสี อาจช่วยทำลายเซลล์ต่อมไทรอยด์ รวมถึงเซลล์มะเร็ง ซึ่งไอโอดีนกัมมันตรังสีอาจใช้รักษาหลังผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์และเซลล์มะเร็งออกไปแล้ว 
    7. อาจช่วยรักษาไฟโบรซิสติค (Fibrocystic Breast Disease) เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำจนมีก้อนโตและเจ็บเต้านม การรับประทานไอโอดีน อาจช่วยลดความเจ็บปวดจากก้อนเนื้อเยื่อที่เต้านมได้ ทั้งนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษาและดำเนินการรักษาตามขั้นตอน 

    อาหารที่เป็นแหล่งของไอโอดีน 

    แหล่งอาหารที่มีไอโอดีน เช่น 

  • อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาทะเล ปลาทู ปลาทูน่า สาหร่ายทะเล  
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส 
  • ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน เช่น เกลือเสริมไอโอดีน น้ำปลาเสริมไอโอดีน ซีอิ๊วขาวเสริมไอโอดีน
  • ผักบางชนิด เช่น  กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บร็อคโคลี่ ผักโขม 
  • เมล็ดงา ถั่งเมล็ดแบน
  • น้ำมันตับปลา 
  • ไข่ไก่  
  • ข้อควรระวังของการบริโภคไอโอดีน

    แม้ไอโอดีนจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อควรระวังหากรับประทานไอโอดีนมากเกินไป อาจมีอาการและผลข้างเคียง ดังนี้ 

    • แสบร้อนในปาก ลำคอ
    • ปวดฟัน เหงือก รวมถึงปากมีรสโลหะ
    • ปวดท้อง ท้องเสีย 
    • เป็นไข้ 
    • คลื่นไส้ อาเจียน 
    • ปัญหาผิวหนัง 
    • เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาไทรอยด์ หรือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา