อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
เมื่อมีอาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ปกติแล้วอาการมักค่อย ๆ หายไปหลังจากดูแลตัวเองในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ควรไปพบคุณหมอผิวหนังหากอาการคันมีลักษณะดังต่อไปนี้
- คันทั่วทั้งตัวตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- คันต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์
- อาการคันไม่ดีขึ้นเมื่อดูแลตัวเองหรือทายาแล้ว
- เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและอาการคันไม่หายไป
- อาการคันเกิดขึ้นพร้อมอาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวลดลง มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน
อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุรักษาอย่างไร
เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอมักสอบถามอาการและประวัติสุขภาพโดยทั่วไป และตรวจหาสาเหตุของโรคด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ตรวจเลือด
- ทดสอบอาการแพ้ต่อสารต่าง ๆ
- นำผิวหนังบางส่วนไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ เมื่อทราบสาเหตุของอาการคันแล้ว คุณหมอจะเลือกรักษาคนไข้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ให้ยาทาชนิดครีม เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งมีฤทธิ์แก้อักเสบ หรือแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin Inhibitors) ที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและใช้รักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน อย่างโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- ให้รับประทานยา เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่หลั่งจากระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีอาการแพ้ แล้วทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ รวมถึงอาการคัน โดยปกติคุณหมอจะจ่ายยาชนิดนี้ให้คนไข้เพื่อรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่อาการคันเกิดจากความวิตกกังวล คุณหมอจะจ่ายยาสำหรับรักษาภาวะทางจิตให้คนไข้ เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) โคลนาซีแพม (Clonazepam) หรือคลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (Chlordiazepoxide)
- ส่องไฟ (Phototherapy) เป็นวิธีรักษาอาการป่วยในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล เพื่อควบคุมปริมาณสารไซโตไคน์ (Cytokines) ที่หลั่งออกมาจากระบบภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดอาการคันหรืออักเสบตามผิวหนัง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย