backup og meta

สนับสนุนบทความโดย Hirudoid Anti Hair loss essence

แผลคีลอยด์ สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

แผลคีลอยด์ คือ แผลเป็นนูนที่สามารถเกิดได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น ติ่งหู ไหล่ แก้ม หน้าอก โดยมักปรากฏขึ้นหลังจากแผลหายภายในไม่กี่เดือน ถึงแม้ว่าแผลเป็นนูนจะไม่ส่งผลอันตราย แต่ก็อาจทำให้ผิวไม่เรียบเนียน และอาจส่งผลให้บางคนขาดความมั่นใจในการแต่งตัว แต่แผลคีลอยด์สามารถแก้ไขได้ โดยควรขอคำปรึกษาและรับการประเมินสภาพผิวจากคุณหมอ เพื่อหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม

แผลคีลอยด์ สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

สาเหตุของแผลคีลอยด์

สาเหตุของแผลคีลอยด์ อาจเกิดจากความผิดปกติในกระบวนการสมานแผลบนผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น แผลจากการเจาะตามร่างกาย แผลไฟไหม้ รอยสิว แมลงกัดต่อย และรอยถลอกทุกชนิด ทำให้ร่างกายกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนมาช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิวที่ได้รับความเสียหาย แต่หากมีการผลิตคอลลาเจนมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ จนแผลที่หายแล้วกลายเป็นแผลนูนหรือคีลอยด์ขึ้น อย่างไรก็ตาม คีลอยด์ไม่ส่งผลอันตราย ไม่ก่อตัวเป็นมะเร็ง และไม่ใช่โรคติดต่อ อีกทั้งยังสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้

อาการของแผลคีลอยด์

อาการของแผลคีลอยด์ สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้

  • หลังจากบาดแผลหายสนิทแล้ว ผิวหนังอาจมีลักษณะนูนขึ้นมา ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
  • ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีลักษณะนุ่ม หนา เงา
  • แผลคีลอยด์มีสีแดง น้ำตาล หรือม่วง ขึ้นอยู่กับสภาพผิวแต่ละบุคคล
  • อาการคัน
  • อาการระคายเคืองเมื่อเสียดสีกับเสื้อผ้า

ควรพบคุณหมอทันทีหากรู้สึกไม่สบายตัว หรือสังเกตว่าแผลคีลอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาเพื่อลดขนาดหรือกำจัดคีลอยด์

การรักษาแผลคีลอยด์

การรักษา แผลคีลอยด์ อาจทำได้ ดังนี้

  • ยาฉีด เหมาะสำหรับคีลอยด์มีขนาดเล็ก โดยคุณหมออาจฉีดยาสเตียรอยด์ (Steriod) เพื่อลดความนูนของแผล อาจจำเป็นต้องฉีดติดต่อกันทุกเดือน อย่างน้อย 6 เดือน ผลข้างเคียงของการฉีดแผลคีลอยด์ คือ อาจส่งผลให้สีผิวเปลี่ยนแปลงและผิวหนังยุบตัว
  • การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เหมาะสำหรับคีลอยด์ขนาดเล็ก โดยการรักษาด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลว เพื่อลดขนาดของแผลคีลอยด์ลง อาจจำเป็นต้องทำการรักษาหลายครั้งตามที่คุณหมอกำหนด สามารถรักษาควบคู่กับการฉีดคอร์ติโซนได้ ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยความเย็น คือ อาจทำให้ผิวหนังพุพอง เกิดรอยด่างดำ และรู้สึกเจ็บปวดได้
  • แผ่นซิลิโคนเจลและผ้าพันแผล เหมาะสำหรับผู้ที่มีคีลอยด์เกิดขึ้นใหม่บนผิวหนัง โดยให้นำผ้ายืดพันแผล มาพันรอบบริเวณแผล เพื่อกดและกระชับแผลที่กำลังหายและป้องกันไม่ให้แผลนูนหนา ควรพันเอาไว้เป็นเวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง/วัน เป็นเวลา 4-6 เดือน
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการยิงแสงเลเซอร์ที่คีลอยด์เพื่อช่วยให้คีลอยด์เรียบเนียนไปกับผิว ช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้สีผิวบริเวณคีลอยด์จางลง วิธีนี้อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง อย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของการเลเซอร์ คือ อาจทำให้ผิวหนังพุพอง และมีรอยด่างดำ
  • การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ หรือคีลอยด์มีขนาดใหญ่มาก โดยคุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดนำคีลอยด์ออก

การป้องกันแผลคีลอยด์

วิธีป้องกันแผลคีลอยด์ อาจทำได้ ดังนี้

  • หลังเกิดบาดแผล ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าให้เร็วที่สุด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่อาจอยู่ในแผล เพราะการทำให้แผลสะอาดอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นได้ และควรทาปิโตรเลียมเจลบาง ๆ รวมถึงใช้ผ้าพันแผลหรือซิลิโคนเจล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสมานแผล นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และไอโอดีนในการล้างแผล เพราะอาจทำให้แผลแห้งเกินไป
  • สำหรับแผลจากการเจาะหู หรือการเจาะตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ควรใส่ต่างหูหรือเครื่องประดับแบบหนีบ ไว้อย่างน้อย 12 ชั่วโมง/วัน เป็นเวลา 4-6 เดือน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในการดูแลแผล หากสังเกตว่ามีอาการบวมนูนในบริเวณที่เจาะ ควรพบคุณหมอทันที
  • สำหรับผู้ที่มีแผลจากการสักตามร่างกาย ควรพันผ้าหรือใช้ซิลิโคนเจลกดทับแผลเอาไว้ เพื่อป้องกันผิวหนังหนาขึ้น และป้องกันการเกิดคีลอยด์
  • ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 60 ขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้สีผิวบริเวณแผลเป็นคล้ำและผิวหนังหนาขึ้นเนื่องจากแสงแดด
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุและหลีกเลี่ยงการเจาะผิวหนัง การสัก หรือการโกนขนด้วยมีดโกน เพราะอาจเสี่ยงก่อให้เกิดบาดแผล ที่อาจนำไปสู่การเกิดคีลอยด์ได้

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Know About Keloid Scars. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-to-know-keloid-scars.Accessed July 14, 2022. 

keloid scar. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/keloid-scar/symptoms-causes/syc-20520901.Accessed July 14, 2022.  

Keloid scars. https://www.nhs.uk/conditions/keloid-scars/.Accessed July 14, 2022.  

KELOIDS: WHO GETS AND CAUSES. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/KELOIDS-CAUSES.Accessed July 14, 2022.  

KELOIDS: HOW TO PREVENT THESE RAISED SCARS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/KELOIDS-SELF-CARE.Accessed July 14, 2022. 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/08/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้ครีมทาผิว รักษาอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

เจาะจมูก การดูแลแผล และความเสี่ยงต่อสุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลโดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก · เขียน โดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไข 24/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา