แผลพุพอง เกิดจากอะไร
แผลพุพองมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคที่อาศัยอยู่ทั่วไปบนบริเวณผิวหนังและในโพรงจมูก มักติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงและการสัมผัสกับสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ของเล่น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแผลพุพอง อาจมีดังนี้
- อายุ แผลพุพองพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุ 2-5 ปี และผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
- การสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคแผลพุพอง เช่น คนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อนที่เล่นกีฬาซึ่งต้องสัมผัสผิวหนังกัน มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคแผลพุพองได้โดยตรง
- สุขอนามัย การรักษาสุขอนามัยได้ไม่ดีและการอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดแผลพุพองได้
- สภาพอากาศ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแผลพุพองสามารถแพร่ได้ง่ายในสภาพอากาศอบอุ่นและชื้น
- การมีแผลอื่น ๆ หรือมีผิวแห้งแตก เชื้อแบคทีเรียมักเข้าสู่ชั้นผิวหนังผ่านผื่น รอยแตกบนผิวที่เกิดจากผิวแห้งเกินไป แผลต่าง ๆ เช่น แผลแมลงกัดต่อย แผลจากของมีคม แผลไฟไหม้ รอยถลอก
- ภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ เด็กที่มีโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) โรคอีสุกอีใส โรคหิด อาจเป็นแผลพุพองได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน หรือมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ผู้ที่กำลังใช้คีโมรักษาโรคมะเร็ง ก็อาจเสี่ยงเกิดแผลพุพองได้เช่นกัน
วิธีรักษาแผลพุพอง
แผลพุพองส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กเป็นแผลพุพองควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาจช่วยลดระยะเวลาการติดเชื้อให้เหลือประมาณ 7-10 วัน และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ทั้งนี้ หากการติดเชื้อแผลพุพองเกิดจากปัญหาสุขภาพผิวอื่น ๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคอีสุกอีใส อาจต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อให้หายด้วย เพื่อป้องกันการเกิดแผลพุพองซ้ำ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย