backup og meta

ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง สาเหตุ ภาวะแทรกซ้อนและการดูแลรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง สาเหตุ ภาวะแทรกซ้อนและการดูแลรักษา

    ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการผิวแห้ง ผื่นแดง เป็นตุ่ม ผิวอักเสบ คันรุนแรง และผิวบอบบางแพ้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพอื่น ๆ เช่น แพ้อาหาร โรคไข้ละอองฟาง โรคหอบหืด การติดเชื้อที่ผิวหนัง สีผิวไม่สม่ำเสมอ ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งการดูแลตัวเองอาจเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันปัญหาผิวหนังอักเสบเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ ได้

    ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นอย่างไร

    ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นภาวะทางผิวหนังที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทำให้มีอาการผิวแห้ง คัน ผิวหนา ผิวอักเสบ และผิวบอบบางแพ้ง่าย โดยปัญหาผิวหนังอักเสบเรื้อรังอาจมีแนวโน้มที่อาการจะลุกลามและรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้เกิดความระคายเคืองทั่วร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้อาหาร โรคไข้ละอองฟาง และโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น

    สาเหตุของอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

    ผิวหนังอักเสบเรื้อรังมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีนภายในร่างกายที่ทำให้สภาพผิวหนังอ่อนแอ ผิวจึงไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นและทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรค สารระคายเคือง และสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบางกรณี ผิวหนังอักเสบเรื้อรังอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังมากเกินไป จนลดประสิทธิภาพการทำงานของผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังอ่อนแอและเกิดการอักเสบขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนังอักเสบเรื้อรังขึ้น ภาวะแทรกซ้อนของผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

    ภาวะแทรกซ้อนของผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

    ผิวหนังอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพ ดังนี้

    • แพ้อาหาร ผู้ที่เป็นผิวหนังอักเสบเรื้อรังมักมีอาการแพ้อาหารเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการลมพิษกำเริบ เช่น อาการคัน รอยแดง มีอาการปวด ผิวหนังบวม
    • โรคหอบหืด และโรคไข้ละอองฟาง ผู้ที่เป็นผิวหนังอักเสบเรื้อรังบางคนอาจมีอาการหอบหืดและไข้ละอองฟางเกิดขึ้น ซึ่งอาการของโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ อาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังมีปัญหาผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
    • ผื่นแพ้สัมผัส อาจพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง โดยผื่นแพ้สัมผัสมักเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผื่นแดง คัน และระคายเคืองผิว
    • การติดเชื้อที่ผิวหนัง การเกาผิวหนังสามารถทำให้ผิวแตกและเกิดแผลเปิด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ที่อาจก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
    • โรคผิวหนังจากการเกา เป็นภาวะผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ทำให้ผิวหนา คัน หยาบกร้าน และอาจทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี
    • สีผิวไม่สม่ำเสมอ ผิวด่างเป็นหย่อม ๆ ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อผื่นบริเวณผิวหนังหายแล้ว แต่ยังคงทิ้งรอยดำหลังการอักเสบเอาไว้ ซึ่งอาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวสีเข้ม
    • ผิวหนังที่มือระคายเคืองหรืออักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่เหงื่อออกมือมาก ๆ หรือสัมผัสกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาด สบู่ ผงซักฟอก ยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าแมลง
    • ปัญหาการนอนหลับ อาการคันที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังและรุนแรง อาจรบกวนการนอนหลับ ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการนอนแย่ลงได้
    • ปัญหาสุขภาพจิต อาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เช่น ผิวแห้ง ผื่นแดง คัน ผิวบอบบางแพ้ง่าย อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้าและมีความวิตกกังวลได้ เนื่องจากปัญหาผื่นแดงและอาการคันที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้

    การดูแลรักษาผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

    การดูแลรักษาสุขภาพผิวและสุขภาพร่างกายอาจป้องกันการกำเริบของโรค และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยการดูแลรักษาผิวหนังอักเสบเรื้อรังอาจทำได้ ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เช่น ความร้อน อากาศเย็นจัด แสงแดด เหงื่อออกมาก เพื่อป้องกันอาการกำเริบรุนแรง
    • เข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ติดต่อกันตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และรับประทานยาลดอาการคันเมื่อมีอาการคันผิวหนัง เนื่องจากการเกาผิวหนังอาจทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบกำเริบรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ คุณหมออาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบของผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
    • ให้ความชุ่มชื้นกับผิว ควรให้ความชุ่มชื้นกับผิวอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ ด้วยครีม โลชั่น หรือมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมให้ความชุ่มชื้น เช่น เชียบัตเตอร์ ขี้ผึ้ง และควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และน้ำหอม ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองของผิวหนัง
    • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะการเกาอาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงขึ้น และอาจเกิดแผลเปิดที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น
    • สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม ควรเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ไม่รัดแน่นเกินไป ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการสะสมของเหงื่อ ความอับชื้น และเชื้อแบคทีเรีย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าเป็นขนหรือมีส่วนระคายเคืองผิวหนัง เพราะกระตุ้นให้เกิดผื่นได้ นอกจากนี้ ควรเลือกใช้ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรอ่อนโยนต่อผิว เพื่อป้องกันอาการแพ้และความระคายเคือง
    • จัดการกับความเครียด ความเครียดและความวิตกกังวลอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้อาการผิวหนังอักเสบกำเริบรุนแรงได้ จึงควรจัดการกับความเครียดด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ โยคะ วาดรูป ฟังเพลง อ่านหนังสือ นอนหลับ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา