ขี้กลากมีสาเหตุมาจากอะไร
ขี้กลากเกิดจากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า Dermatophytes ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้บนดิน ผ้าเช็ดตัว หวี ของใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน โดยเชื้อราชนิดนี้อาจแพร่กระจายได้ดังนี้
- คนกับคน การสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังผู้ติดเชื้อ
- สัตว์กับคน กลากสามารถแพร่กระจายขณะลูบคลำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว
- วัตถุกับคน โดยการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น หวี แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
- ดิน หากสัมผัสกับดินที่มีเชื้อราก็อาจส่งผลให้เป็นโรคกลากได้
ขี้กลากและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดขี้กลากมีหลายประการ เช่น
- ระบบภูมิคุ้นกันอ่อนแอ
- ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อรา เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หมอน
- สัมผัสกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ
- สภาพอากาศร้อนชื้น
- ใส่เสื้อผ้ารัดรูป ระบายอากาศได้ไม่ดี
ขี้กลากมีวิธีรักษาอย่างไร
ขี้กลากอาจรักษาได้ด้วยการใช้ครีมต้านเชื้อรา เช่น โคลทรีมาโซล (Clotrimazole) เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) มิโคนาโซล (Miconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โดยอาจต้องทาประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสในการเป็นซ้ำ หากมีอาการรุนแรง คุณหมออาจจ่ายยารับประทานให้ เช่น เทอร์บินาไฟน์ (Terbinafine) อิทราโคนาโซล (Itraconazole) และควรหมั่นสังเกตตนเองและผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมออีกครั้ง
ขี้กลากมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง
วิธีป้องกันการเกิดขี้กลากอาจทำได้ดังนี้
- รักษาผิวให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ เพราะความชื้นอาจทำให้เกิดเชื้อราได้
- ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง เมื่อสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง หากสัตว์เลี้ยงที่มีอาการขนร่วงง่ายอาจเสี่ยงต่อการเป็นขี้กลากควรพาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
- อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังจากออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เหงื่อออก รวมถึงเช็ดทำความสะอาดผิวหนังให้แห้งก่อนการใส่เสื้อผ้า
- หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่เปียกหรือชื้นเป็นเวลานาน รวมทั้งควรเปลี่ยนชุดชั้นใน และถุงเท้าอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- ควรสวมใส่รองเท้าเมื่อเข้าห้องน้ำหรือบริเวณสระว่ายน้ำ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย