backup og meta

ตัวโลน คืออะไร เป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    ตัวโลน คืออะไร เป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือไม่

    ตัวโลน (Pubic Lice) เป็นแมลงขนาดเล็กกลุ่มเดียวกับเหา อาศัยอยู่ตามร่างกายบริเวณที่มีขน อาทิ หนังศีรษะ ใบหน้า รักแร้ หนวด และมักพบได้มากที่สุดบริเวณอวัยวะเพศ ตัวโลนมักแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันน และยังเป็นสาเหตุของอาการคันหรือผิวหนังระคายเคือง อย่างไรก็ตาม ตัวโลนกำจัดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ รวมทั้งแชมพู หรือโลชั่นที่มีส่วนประกอบในการกำจัดแมลงโดยเฉพาะโลนและหา การดูแลตนเองไม่ให้ตัวโลนเกาะนั้นสามารถทำได้ด้วยการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเสมอ และทำความสะอาดเสื้อผ้าและเครื่องนอนเป็นประจำ โดยอาจแช่หรือซักในน้ำร้อนอุณหภูมิ 54 องศาเซลเซียสขึ้นไป

    ตัวโลน คืออะไร

    ตัวโลนเป็นแมลงกลุ่มเดียวกับเหา มีขนาดเล็กมาก หรือไม่เกิน 1.8 มิลลิเมตร ลำตัวสีเหลืองหรือแดง มี 6 ขา มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก มักต้องใช้แว่นขยายส่องจึงจะมองเห็น

    ตัวโลนอาศัยการดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร มักเป็นสาเหตุของอาการคันหรืออักเสบตามร่างกาย ตัวโลนมักพบได้ ตามบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่มีเส้นขนปกคลุม เช่น ศีรษะ ใบหน้า หน้าอก รักแร้ แขน อวัยวะเพศ ทั้งนี้ ลักษณะของตัวโลนที่พบได้ มี 3 ระยะ คือ

  • ไข่โลน มีรูปทรงรีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สีออกเหลืองหรือขาว ส่วนใหญ่มักติดอยู่ตามแนวเส้นขน ไข่โลนใช้ระยะเวลาประมาณ 6-10 วันในการฟักเป็นตัว
  • ตัวอ่อน มีขนาดเล็กมาก ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงโตเต็มวัยและสามารถสืบพันธุ์ได้
  • ตัวเต็มวัย มีขนาดประมาณ 1.1-1.8 มิลลิเมตร โดยตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และมักพบบริเวณขนตรงอวัยวะเพศ ทั้งนี้ เมื่อตัวโลนถูกกำจัดออกจากร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน จึงจะตาย
  • ลักษณะของอาการผิวหนังเนื่องจาก ตัวโลน

    อาการผิดปกติต่าง ๆ เนื่องจากตัวโลนมักปรากฏขึ้นหลังจากตัวโลนแพร่กระจายอยู่บนร่างกายแล้วหลายสัปดาห์ โดยอาการที่อาจพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง มีดังต่อไปนี้

    • รู้สึกคันตามผิวหนังซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดเมื่อถูกตัวโลนกัด เนื่องจากการแพ้น้ำลายของตัวโลน และอาการมักรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน หากเกาอาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเป็นแผลได้
    • ผิวหนังเกิดการอักเสบหรือระคายเคือง เนื่องจากโดนตัวโลนข่วน
    • มีจุดสีน้ำเงินหรือจุดเลือดติดบนผิวหนังหรือเสื้อผ้า
    • พบผงสีดำหรือมูลของตัวโลนอยู่บนเสื้อผ้าหรือชุดชั้นใน

    เมื่อพบอาการที่เข้าข่ายว่าอาจเกิดจากตัวโลน ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาทางรักษาต่อไป

    การแพร่กระจายของตัวโลน

    โดยทั่วไป ตัวโลน จะแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยเฉพาะระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ตัวโลนยังแพร่กระจายผ่านการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าขนหนู

    อย่างไรก็ตาม ตัวโลนจะไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการใช้ชักโครกหรือห้องน้ำร่วมกัน เพราะเท้าของตัวโลนไม่สามารถยึดเกาะบนวัตถุผิวเรียบได้

    อาการผิวหนังที่เกิดจากตัวโลน รักษาอย่างไร

    เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะตรวจหาตัวโลนหรือไข่ของโลนด้วยตาเปล่าหรือผ่านแว่นขยาย หากพบตัวโลน คุณหมอจะให้ยาเพื่อรักษาดังต่อไปนี้

    • ยามาลาไทออน (Malathion) เป็นยาฆ่าแมลงขนาดเล็ก สำหรับใช้ภายนอก โดยใช้ทาบริเวณที่พบตัวโลนทิ้งไว้เป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง จากนั้นจึงล้างออก
    • ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นยาต้านปรสิต โดยรับประทานในรูปแบบของยาเม็ด
    • ยาลินเดน (Lindane) เป็นยากำจัดตัวโลนในรูปแบบของแชมพู ใช้สระผมเพื่อกำจัดตัวโลนและไข่โลน โดยยาชนิดนี้มักไม่ใช่ตัวเลือกแรก ๆ ในการรักษา เพราะก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยเป็นพิษต่อสมองและระบบประสาท คุณหมอจะจ่ายยานี้เมื่อเห็นว่าการรักษาด้วยยาอื่นไม่ได้ผล
    • ปิโตรเลียมเจลลี ใช้ทาบริเวณขนตาหรือคิ้วในตอนกลางคืนแล้วล้างออกในตอนเช้า ทั้งนี้ การรักษาด้วยปิโตรเลียมเจลลีจะต้องทาอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะเห็นผล นอกจากนั้นหากใช้ปิโตรเลียมเจลลีไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาได้

    ทั้งนี้ การใช้ยารักษาตัวโลนในรูปแบบยาใช้ภายนอก อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง แสบ แดง หรือคันได้ หากเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาด

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน ตัวโลน

    การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงการติดต่อตัวโลน อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจมีตัวโลน เพื่อป้องกันการติดต่อของตัวโลน ทั้งนี้ การสวมถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันตัวโลนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะตัวโลนที่อาศัยอยู่บริเวณอวัยวะเพศยังแพร่กระจายได้อยู่
    • ลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน
    • ทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะเสื้อผ้าหรือเครื่องนอน ควรซักในน้ำที่มีอุณหภูมิ 54 องศาเซลเซียสขึ้นไป และควรนำไปตากแดดให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อ ควรเก็บเสื้อผ้า เครื่องนอน หรือของใช้ต่าง ๆ ใส่ในถุงสุญญากาศหรือใส่ถุงปิดปากถุงให้มิดชิด อย่างน้อย 2 สัปดาห์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา