แม้ท้องผูกจะเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าเราจะละเลยปัญหานี้ได้ เพราะหากปล่อยไว้ ไม่รีบรักษา อาการท้องผูกของคุณอาจกลายเป็นภาวะ ท้องผูกเรื้อรัง ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด แล้วคุณจะสังเกตได้อย่างไรว่าตัวเองท้องผูกเรื้อรังหรือไม่ หรือเราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไรบ้าง เราไปหาคำตอบจากบทความของ Hello คุณหมอ กันเลย
ภาวะท้องผูกเรื้อรัง คืออะไร
หลังจากที่เรากินอาหารเข้าไป อาหารจะเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหาร เริ่มจากปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และกลายเป็นของเสียออกทางทวารหนัก โดยปกติแล้ว ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 ครั้งต่อวันไปจนถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์
แต่หากขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือน จะถือว่ามีภาวะท้องผูกเรื้อรัง (Chronic Constipation) แต่ในความเป็นจริง คำจำกัดความภาวะท้องผูกเรื้อรังของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ท้องผูกเรื้อรังของบางคนอาจหมายถึงภาวะที่ร่างกายขับถ่ายอุจจาระไม่สม่ำเสมอติดต่อกันหลายสัปดาห์ ในขณะที่บางคนอาจหมายถึง ภาวะที่ขับถ่ายอุจจาระได้ลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติจึงจะถ่ายออก
ความแตกต่างระหว่างภาวะท้องผูกเฉียบพลัน กับท้องผูกเรื้อรัง
ความแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดระหว่างภาวะท้องผูกเฉียบพลัน กับภาวะท้องผูกเรื้อรังก็คือระยะเวลาที่เกิดอาการ ผู้ที่ท้องผูกเฉียบพลันจะมีอาการถ่ายอุจจาระลำบากติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน ส่วนผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังจะมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระนาน 2-3 เดือน หรือบางคนอาจท้องผูกเรื้อรังติดต่อกันนานเป็นปี
นอกจากเรื่องระยะเวลาในการเกิดโรค คุณยังสามารถสังเกตข้อแตกต่างระหว่างภาวะท้องผูกเฉียบพลันและท้องผูกเรื้อรังในเบื้องต้นได้ จากข้อสังเกตดังต่อไปนี้
ภาวะท้องผูกเฉียบพลัน
- มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต หรือการกินอาหาร การไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ความเจ็บป่วย การใช้ยา และการเดินทาง
- บรรเทาได้ด้วยยาระบายที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา การออกกำลังกาย และการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องผูกจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงาน
- ลองปรับเปลี่ยนอาหารที่กิน หรือออกกำลังกายมากขึ้นแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ต้องเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล และใช้ยาที่แพทย์สั่งอาการจึงดีขึ้น
อาการของภาวะ ท้องผูกเรื้อรัง
หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
- ต้องเบ่งอุจจาระแรง ๆ ถึงจะถ่ายออก
- รู้สึกเหมือนมีอะไรอุดตันอยู่ในลำไส้ตรง และขัดขวางการขับถ่ายอุจจาระ
- รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
- ต้องกดนวดหน้าท้องเพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น หรือต้องดึงก้อนอุจจาระออกมาจากลำไส้ตรง
ใครบ้างที่เสี่ยงเกิดภาวะ ท้องผูกเรื้อรัง
กลุ่มคนเหล่านี้ อาจเสี่ยงท้องผูกเรื้อรังได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น
- ผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง
ท้องผูกเรื้อรัง เกิดจากอะไรได้บ้าง
ภาวะท้องผูกเรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ใช้ชีวิตในรูปแบบที่ไม่ดีต่อสุขภาพติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมากไป กินอาหารแปรรูปเยอะเกินไป ไม่กินอาหารที่มีไฟเบอร์ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย เวลาปวดอุจจาระก็ไม่รีบไปเข้าห้องน้ำ
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผิดปกติ จึงทำงานร่วมกับการหดตัวในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือที่เรียกว่าลำไส้ตรง (Rectum) ได้ไม่ดีนัก
- เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะพร่องไทรอยด์
- เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น การบาดเจ็บไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส (MS)
- ทวารหนัก หรือลำไส้ตรงฉีกขาด
- มีภาวะลำไส้ตีบตัน
- มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคการกินผิดปกติ โรควิตกกังวล
- โรคลำไส้ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคมะเร็งลำไส้ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome; IBS)
- ความบกพร่องทางร่างกายที่ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก
- การใช้ยา เช่น ยาในกลุ่มโอปิแอต (Opiate) ยาต้านแคลเซียม ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาที่มีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomimetic drug) ยาต้านอาการทางจิต ยาขับปัสสาวะ อาหารเสริมแคลเซียม อาหารเสริมธาตุเหล็ก ยาแก้แพ้ ยาลดกรด โดยเฉพาะชนิดที่มีแคลเซียมสูง
ไม่อยากท้องผูกเรื้อรัง ควรป้องกันยังไงดี
หากคุณไม่อยากมีปัญหาท้องผูก หรือรุนแรงถึงขั้นท้องผูกเรื้อรัง เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยคุณได้
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น พืชตระกูลถั่ว ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด
- กินอาหารจำพวกเนื้อแดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารแปรรูปให้น้อยลง
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ
- ขยับร่างกายเป็นประจำ หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- จัดการความเครียดให้ดี หากรู้สึกเครียดเมื่อไหร่ ควรทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง เดินเล่น ดูหนัง
- หากปวดอุจจาระ ควรรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ทำได้ อย่ากลั้นเอาไว้
- พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะหลังกินอาหาร
หากคุณพบว่ามีเลือดปนในอุจจาระที่ถ่ายออกมา น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือขับถ่ายลำบากร่วมกับมีอาการปวดท้องรุนแรง แนะนำให้รีบเข้าพบคุณหมอทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้
[embed-health-tool-bmr]