backup og meta

สัญญาณเตือนของโรคคลั่งผอม ที่ทุกคนควรรู้ไว้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 20/08/2020

    สัญญาณเตือนของโรคคลั่งผอม ที่ทุกคนควรรู้ไว้

    เรื่องรูปร่างกับสาวๆ เป็นของคู่กัน การมีหุ่นที่ดีนั้นช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เพิ่มขึ้นได้ สาวๆ หลายคนชอบที่จะลดน้ำหนักและออกกำลังกาย เพื่อให้รูปร่างดูดี แต่บางคนอาจมีความกังวลเรื่องน้ำหนัก หรือกลัวอ้วนมากจนไม่ยอมกินอะไร ซึ่งในระยะยาวการอดอาหารอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และพัฒนาไปสู่การป่วยเป็นโรคคลั่งผอมได้ ดังนั้นทาง Hello คุณหมอ จึงได้นำเรื่อง สัญญาณเตือนของโรคคลั่งผอม มาฝากกัน

    ทำความรู้จักกับโรคคลั่งผอม

    โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “โรคคลั่งผอม”  ถือเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ที่ผู้ป่วยนั้นจะมีภาวะบกพร่องของพฤติกรรมการกิน (Eating Disorders) ซึ่งบุคคลนั้นจะใช้วิธีการลดน้ำหนักแบบไม่ถูกวิธีและสุดขั้ว เพื่อลดน้ำหนักหรือหลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนัก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะมี 2 ประเภท คือ

    • อดอาหาร (Restricting type)
    • รับประทานอาหารอย่างมากและพยายามอาเจียน ใช้ยาระบายเพื่อให้น้ำหนักลด (Binge-eating/purging type)

    ผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมมักจะจำกัดการกินอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือถ้ากินอาหารเข้าไปอย่างมาก พวกเขาก็จะใช้วิธีขับอาหารออกมาด้วยการอาเจียน หรือการใช้ยา เช่น ยาระบาย และยาขับปัสสาวะ

    ผลจากการกระทำดังกล่าว อาจนำไปสู่การเกิดอาการเบื่ออาหาร ซึ่งการพัฒนาอาการเบื่ออาหารในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา เช่น ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า (Depression)

    กลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคคลั่งผอม

    สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการพัฒนาอาการเบื่ออาหาร ได้แก่ ผู้หญิงในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ในวัยหนุ่มสาว รวมถึงผู้ชายและผู้หญิงที่อายุมากก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน  โรคคลั่งผอมนั้นมักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนที่มีความผิดปกติในการกินอาหาร มักจะไม่ทราบว่าตัวเองกำลังประสบปัญหาดังกล่าวอยู่

    นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารที่จะไม่ยอมบอกคนอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ จึงทำให้ผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นได้ยาก

    สัญญาณเตือนของโรคคลั่งผอม มีอะไรบ้าง

    สำหรับสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรคคลั่งผอมอยู่หรือไม่นั้น สามารถสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของตนเองได้ ดังนี้

    สัญญาณเตือนของโรคคลั่งผอม-อาการ

    การกำจัดอาหารออกจากร่างกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก

    การกำจัดอาหารเป็นลักษณะทั่วไปของคนที่เป็นโรคคลั่งผอม ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่ การอาเจียน และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ รวมถึงการใช้วิธีการสวนทวารหนัก (Enemas)

    การใช้ยาระบายจำนวนมากเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการกำจัดอาหารที่กินเข้าไปแล้ว ยาเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อที่จะลดการดูดซึมอาหารและเร่งการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ในทำนองเดียวกัน ยาขับปัสสาวะก็มักจะใช้เพื่อเพิ่มการปัสสาวะ และลดน้ำในร่างกาย เพื่อลดน้ำหนักตัว

    จากการศึกษาโดยการสำรวจจากผู้ป่วยที่เป็นโรคคลั่งผอมพบว่า มีผู้ที่ใช้วิธีการอาเจียน 86 เปอร์เซ็นต์ ใช้ยาระบาย 56 เปอร์เซ็นต์ และใช้ยาขับปัสสาวะ 49 เปอร์เซ็นต์ การกำจัดอาหารด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมา อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงหลายอย่าง

    เอาแต่พะวงเกี่ยวกับอาหาร แคลอรี่ และการควบคุมอาหาร

    ความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอาหารและการดูแลเกี่ยวกับการบริโภคแคลอรี่ เป็นลักษณะทั่วไปของโรคคลั่งผอม โดยคนที่เป็นโรคนี้ อาจจะทำการจดบันทึกรายการอาหารทุกรายการที่พวกเขากินเข้าไป รวมถึงน้ำที่ดื่มด้วย บางครั้งพวกเขายังจดแคลอรี่ของอาหารด้วย

    การกังวลเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้เกิดอาการพะวง โดยผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมอาจลดปริมาณแคลอรี่ลงอย่างมากและฝึกการควบคุมอาหาร บางคนอาจจำกัดอาหารบางชนิด หรือกลุ่มอาหารทั้งหมดออกไป เช่น คาร์โบไฮเดรต หรือไขมันจากอาหาร

    การจำกัดการกินอาหารเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมเกี่ยวกับการกินอาหารได้ การกินอาหารที่ลดลงอาจส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร เช่น อินซูลิน และเลปติน (Leptin)

    การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และสถานะทางอารมณ์

    ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคคลั่งผอม มักจะมีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล สมาธิสั้น ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) และหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) อาการเหล่านี้อาจทำให้ผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมไม่พบความพึงพอใจในกิจกรรมที่คนอื่นๆ มักจะรู้สึกสนุกสนาน การควบคุมตัวเองอย่างมากพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอม ซึ่งจะแสดงออกมาโดยการจำกัดการบริโภคอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลดลง นอกจากนั้นคนที่เป็นโรคนี้ยังอาจมีความไวสูงต่อคำวิจารณ์ ความล้มเหลว และข้อผิดพลาดต่างๆ

    นอกจากนี้อาจพบว่ามีความไม่สมดุลของฮอร์โมนบางชนิด เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) ออกซิโทซิน (Oxytocin) คอร์ติซอล (Cortisol) และเลปติน (Leptin) เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร แรงจูงใจ และพฤติกรรม ซึ่งระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติอาจนำไปสู่อารมณ์แปรปรวน ความอยากอาหารที่ผิดปกติ พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

    ไม่เพียงเท่านั้นการลดการกินอาหาร สามารถนำไปสู่การขาดสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ได้อีกด้วย

    มีความเข้าใจเรื่องรูปร่างผิดเพี้ยนไปจากเดิม

    รูปร่างถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอม โดยพวกเขาจะมีความรู้สึกด้านลบกับร่างกายของตัวเอง ในการศึกษาหนึ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาแสดงความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง และยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการผอมที่สูงมาก

    ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมมักจะเกี่ยวข้องกับการประเมินค่าขนาดของร่างกายแบบเกินจริง หรือบางคนมักจะคิดว่าตัวเองนั้นมีรูปร่างที่ใหญ่จนเกินไป จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งสำรวจแนวคิดนี้ใน 25 คน โดยให้คนที่เป็นโรคคลั่งผอมตัดสินว่าพวกเขาตัวใหญ่เกินไปจริงหรือไม่ ด้วยวิธีการให้พวกเขาเดินผ่านประตูว่าจะผ่านได้หรือไม่ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมจะประเมินขนาดร่างกายของตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียวกับกลุ่มที่สามารถควบคุมตัวเองได้

    การตรวจร่างกายซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เป็นอีกหนึ่งลักษณะนิสัยของคนที่เป็นโรคคลั่งผอม นอกจากนั้นพวกเขายังมีพฤติกรรมในการมองดูตัวเองในกระจก เพื่อตรวจสอบร่างกาย วัดขนาดของร่างกาย และพยายามจับไขมันบางส่วนของร่างกายอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า กีฬาที่ใช้น้ำหนักและเกี่ยวกับความรู้สึกต่อความงาม (Aesthetics) ยังเป็นจุดสนใจที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมแต่ร่างกายอ่อนแอได้อีกด้วย

    ออกกำลังกายมากเกินไป

    ผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอม โดยเฉพาะผู้ที่มีอยู่ในกลุ่มชอบอดอาหาร มักจะออกกำลังกายมากเกินไปเพื่อลดน้ำหนัก ในความเป็นจริงจากการศึกษาหนึ่งซึ่งมีผู้เข้าร่วม 165 คน แสดงให้เห็นว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมนั้น นอกจากจะมีความผิดปกติในการกินอาหารแล้วยังออกกำลังกายมากเกินไปอีกด้วย

    ในกลุ่มนี้พบว่า การออกกำลังมากเกินไปเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่ชอบอดอาหารถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 43 เปอร์เซ็นต์นั้นผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมแบบรับประทานอาหารอย่างมากและพยายามอาเจียน ใช้ยาระบายเพื่อให้น้ำหนักลด

    สำหรับในวัยรุ่นผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมจะมีความผิดปกติของการกินอาหาร และออกกำลังกายมากเกินไป ดูเหมือนจะพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งบางคนก็อาจจะมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้นเมื่อตัวเองออกกำลังกายพลาด นอกจากนั้นผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมมักจะมีพฤติกรรมการเดิน การยืน และการกระวนกระวายบ่อยขึ้นในการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ บ่อยครั้งที่การออกกำลังกายที่มากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความวิตกกังวล (Anxiety) ภาวะซึมเศร้า บุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในระดับที่สูง

    สุดท้ายดูเหมือนว่าเลปตินในคนที่เป็นโรคคลั่งผอมนั้นจะอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งอาจส่งผลทำให้สมาธิสั้นมากขึ้นและมีอาการกระสับกระส่าย

    เมื่อไหร่ที่ควรพบคุณหมอ

    ผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอมอาจจะรู้สึกว่าการไปพบคุณหมอนั้นจะเป็นการสร้างภาระให้กับคุณหมอ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความจริงเลย เพราะคุณหมอต้องการที่จะช่วยคุณอย่างแน่นอน เมื่อคุณไม่ได้กินอาหารที่มากพอ จะส่งผลทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเมื่อร่างกายตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารก็อาจสามารถนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น  เป็นลม อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแอ อัตราการเต้นของหัวใจช้า ความดันโลหิตต่ำ และอื่นๆ ที่ทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้น คุณจึงควรได้รับการช่วยเหลือจากคุณหมอก่อนที่จะถึงจุดนั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 20/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา