backup og meta

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดไหลย้อน เป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน (GERD หรือ Gastroesophageal reflux disease) ซึ่งนอกจากอาหารบางประเภท เช่น กาแฟ  น้ำอัดลม มะเขือเทศ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต จะกระตุ้นอาการนี้แล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเป็น สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน ได้เช่นกัน

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน ที่ไม่ใช่อาหาร

1. ยาบางชนิด

หากคุณใช้กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drug: NSAID ) เป็นประจำ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (naproxen) อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ คุณควรปรึกษาแพทย์ หากคิดว่ายาที่ใช้รักษาโรคส่งผลต่ออาการกรดไหลย้อนของคุณ และไม่ควรตัดสินใจหยุดกินยาด้วยตัวเอง

สำหรับยาบางชนิดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ รวมถึงยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถกระตุ้นอาการแสบร้อนกลางอก ได้แก่ ยารักษาอาการของโรคหอบหืด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ หรือการอักเสบอื่นๆ ยารักษาโรคกระดูกพรุน รวมถึงยาที่ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า และยาบรรเทาความเจ็บปวด

2. การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้อาการของโรคกรดไหลย้อนแย่ลง เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารอ่อนแอลง กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร และน้ำดีที่ใช้ในการย่อยไขมัน ย้ายจากลำไส้เล็กไปสู่กระเพาะอาหาร นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังลดปริมาณน้ำลาย ที่โดยปกติแล้วมีหน้าที่กำจัดกรดออกจากหลอดอาหาร โดยในน้ำลายจะมีไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นตัวต้านกรดโดยธรรมชาติ

3. ความเครียด

ความเครียดสามารถเป็นตัวกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน แต่ความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้การผลิตกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยใน Journal of Psychosomatic Research ที่ชี้ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการกรดไหลย้อน มักรู้สึกถึงอาการนี้เมื่อเครียด แต่ไม่ได้บ่งชี้ถึงระดับของกรดในกระเพาะอาหารที่เพิ่มขึ้นจริงแต่อย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ที่เครียดอาจรู้สึกถึงอาการกรดไหลย้อนมากขึ้น หรือผลกระทบจากความเครียดทางประสาทวิทยา อาจจะส่งผลให้เพิ่มความเจ็บปวดในหลอดอาหารมากขึ้นได้

4. การกินอาหารมากเกินไป

ผู้ที่ชื่นชอบการกินบุฟเฟต์ ควรระวังปริมาณในการกิน เพราะการกินอาหารมากเกินไป อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากกระเพาะอาหารจะขยายเวลาที่มีอาหารในกระเพาะอาหารมาก ยิ่งกระเพาะอาหารของคุณขยายขนาดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่างจะปิดได้ไม่ดีมากเท่านั้น จึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้

5. นิสัยการกิน

การกินเร็วเกินไป อาจกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน รวมถึงการกินอาหารในท่านอน หรือกินอาหารตอนกลางคืน ในช่วงเวลาก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง ก็อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้เช่นกัน มีงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นที่ชี้ว่า ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนไม่ควรกินอาหารแล้วเอนตัวลงนอนทันที ดังนั้น นิสัยการกิน ทั้งการกินเร็ว กินแล้วเอนตัวลงนอนทันที รวมถึงการกินก่อนเวลาเข้านอน ต่างก็อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้

6. โรคไส้เลื่อนกะบังลม

กะบังลมคือผนังกล้ามเนื้อที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารกับช่องอก ซึ่งมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่างสามารถรักษากรดในกระเพาะอาหาร ให้อยู่แค่ภายในกระเพาะอาหารได้ แต่เมื่อกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่างและส่วนบนของกระเพาะอาหารเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน กะบังลมจะทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน และคุณอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการโรคไส้เลื่อนกะบังลมก็เป็นได้ แต่โดยปกติ อาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดไหลย้อน อาจไม่ได้หมายถึงภาวะไส้เลื่อนกะบังลมเสมอไป

7. ความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

งานวิจัยชี้ว่าความอ้วนหรือการมีน้ำหนักเกิน สามารถกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน อาการแสบร้อนกลางอก และโรคกรดไหลย้อนได้ โดยมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคกรดไหลย้อน กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน กลุ่มที่มีปัญหากรดไหลย้อนโดยทั่วไป จะมีน้ำหนักมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในปี 2003 ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Medical Association ที่พบว่า ความเสี่ยงในการเกิดอาการกรดไหลย้อน จะเพิ่มขึ้นตามค่าดัชนีมวลกาย (Body-mass index, BMI) และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าดัชนีมวลกายกับอาการกรดไหลย้อนนี้ จะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งในกรณีนี้ที่เป็นไปได้ก็คือ การมีมวลไขมันมากเกินไปในช่องท้อง และสารเคมีที่มวลไขมันหลั่งออกมา อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน

8. การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอาจกระตุ้นอาการกรดไหลย้อน บางครั้งความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้ มีการศึกษาวิจัยที่ดูความแตกต่างของประเภทของการออกกำลังกาย ผลการวิจัยพบว่านักกีฬายกน้ำหนักมีอาการแสบร้อนกลางอกและกรดไหลย้อนมากที่สุด นักวิ่งมีอาการไม่รุนแรง และมีอาการกรดไหลย้อนน้อยกว่านักยกน้ำหนัก ส่วนนักปั่นจักรยานมีภาวะกรดไหลย้อนน้อยที่สุด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Beyond Food: Other Causes of Heartburn and GERD. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/causes-of-heartburn#1. Accessed on September 13, 2018.

Surprising Heartburn Triggers. https://www.health.com/health/gallery/0,,20307301,00.html#your-genes-0. Accessed on September 13, 2018.

It’s Not Food Causing Your Heartburn—Here Are The 5 Real Culprits. https://www.prevention.com/food-nutrition/a20482845/5-real-causes-of-heartburn/. Accessed on September 13, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/07/2020

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนวิถีชีวิตง่ายๆ ป้องกันอาการกรดไหลย้อน

โรคหอบหืด กรดไหลย้อน เกี่ยวข้องกันอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา