backup og meta

ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในเดือนเดียวกัน (Intermenstrual bleeding) เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/12/2023

    ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในเดือนเดียวกัน (Intermenstrual bleeding) เกิดจากอะไร

    โดยทั่วไป ประจำเดือนของผู้หญิงในแต่ละรอบเดือนจะมีระยะห่างประมาณ 21-35 วัน และผู้หญิงมักมีประจำเดือนประมาณ 3-7 วัน หากเกิดภาวะ ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ทั้งที่ประจำเดือนเพิ่งหมดไปเพียง 1-2 สัปดาห์ อาจเป็นอาการของภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ ที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุทางกายภาพ เช่น การมีติ่งเนื้อปากมดลูก การมีติ่งเนื้อโพรงมดลูก การติดเชื้อระบบสืบพันธุ์ การเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือน หรือเกิดจากสาเหตุทางใจเช่น ความเครียด การใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ อาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดท้องรุนแรง มีตกขาวผิดปกติ ร่วมด้วย การรักษาภาวะประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป

    สาเหตุของ ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ ในเดือนเดียวกัน (Intermenstrual bleeding)

    ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ความเครียด ภาวะเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติ และอาจส่งผลให้ประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่ได้
  • การใช้ชีวิตประจำวัน กิจวัตรประจำวันของผู้หญิง เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป สัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้
  • น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป การเพิ่มหรือลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วของผู้หญิง อาจกระทบต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้การตกไข่ผิดปกติ และอาจทำให้ประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่เร็วกว่ากำหนดได้
  • การคุมกำเนิด เช่น ยาคุมฉุกเฉิน ห่วงอนามัย ยาฉีดคุมกำเนิด อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะฮอร์โมนไม่คงที่ รวมไปถึงการหยุดใช้ยาคุมกำเนิดหลังใช้มาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อการตกไข่ของผู้หญิง และอาจทำให้ประจำเดือนมามากกว่า 1 ครั้งในรอบเดือนได้
  • วัยแรกรุ่นหรือวัยสาว (Puberty) เด็กผู้หญิงที่เพิ่งเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ุและเพิ่งเริ่มมีประจำเดือน อาจมีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรืออาจมีประจำเดือนมาหลายครั้งต่อเดือนได้ ส่วนใหญ่แล้วความผิดปกตินี้จะหายไปเองหลังจากเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก 3-5 ปี เนื่องจากร่างกายปรับตัวได้แล้ว
  • วัยก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) น้อยลง ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และอาจส่งผลให้มีประจำเดือนมามากกว่า 1 ครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) เป็นภาวะที่ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ทำให้เกิดถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ ซึ่งมักส่งผลให้รังไข่ทำงานผิดปกติ และทำให้ประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่ก่อนกำหนดได้
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตอยู่นอกมดลูก ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้มีบุตรยาก
  • ภาวะติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial polyp) หรือติ่งเนื้อที่ปากมดลูก (Endocervical polyp) ทำให้มีอาการเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนได้
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เป็นภาวะที่อวัยวะสืบพันธุ์ติดเชื้อ ส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากมีประจำเดือนไปแล้ว
  • การรักษา ประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่

    วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือหมดแล้วมาใหม่ เบื้องต้นจึงจำเป็นต้องระบุสาเหตุของอาการก่อน โดยคุณหมอจะวินิจฉัยภาวะประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่ ด้วยการซักประวัติสุขภาพและตรวจภายในช่องคลอด เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงในปากมดลูก เช่น การติดเชื้อ โรคมะเร็งปากมดลูก จากนั้นคุณหมออาจตรวจเลือด ทดสอบการตั้งครรภ์ หรือตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามอาการต่อไป

    • สำหรับผู้ที่ฮอร์โมนไม่สมดุล คุณหมออาจรักษาด้วยการสั่งยาฮอร์โมนเสริม เพื่อช่วยปรับฮอร์โมนให้เป็นปกติ เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย
    • สำหรับผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คุณหมออาจรักษาด้วยการสั่งยา การผ่าตัด และแนะนำวิธีการดูแลตัวเองที่เหมาะสมกับอาการ
    • สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือน คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
    • สำหรับผู้ที่มีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการใช้ยารักษาตามอาการ
    • สำหรับผู้มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ คุณหมออาจรักษาด้วยการให้ยาฮอร์โมนและการผ่าตัดตามอาการ
    • สำหรับผู้มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ คุณหมออาจรักษาด้วยอาการด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ

    วิธีป้องกัน ประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่

    การดูแลสุขภาพด้วยวิธีเหล่านี้ อาจช่วยป้องกันภาวะประจําเดือนหมดแล้วมาใหม่ได้

  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ร่างกายใช้เวลาในช่วงนอนหลับผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เพื่อซ่อมแซมร่างกายได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความเหนื่อยล้าและไม่สบายตัว
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
  • หากรู้สึกเครียดหรือมีภาวะเครียดเรื้อรัง ควรทำกิจกรรมคลายเครียด พูดคุยกับคนรอบตัวเพื่อระบายปัญหาในใจ หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาที่เหมาะสม
  • ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

    โดยปกติแล้ว ประจำเดือนหมดแล้วมาใหม่ ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ต้องกังวล เพราะอาจแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมาบ่อยกว่าปกติติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา