เนื้องอกมดลูก หรือ เนื้องอกในมดลูก เป็นโรคในผู้หญิงที่พบได้มากเป็นอันดับต้น ๆ โดยพบมากในผู้หญิงวัย 40-50 ปี แต่ผู้หญิงในวัยอื่นก็พบเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน ขนาดของเนื้องอกที่พบมักมีตั้งแต่ขนาดจิ๋วเท่าเมล็ดพืช เท่าลูกตาไปจนถึงขนาดใหญ่โตเท่าศีรษะ ที่อาจทำให้มดลูกขยายและผิดรูปได้ เนื้องอกมดลูกมักไม่แสดงอาการ หากไม่สังเกตหรือตรวจภายใน อาจทราบตอนที่อาการรุนแรงแล้ว
[embed-health-tool-bmi]
สัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก
แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นโรคเนื้องอกมดลูกจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่โรคนี้ก็อาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ได้ โดยอาการอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด และจำนวนของเนื้องอกในมดลูก
- มีประจำเดือนนานเกิน 1 สัปดาห์
- มีเลือดประจำเดือนมามาก
- ปวดท้องน้อย หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ท้องน้อยบวม หรือโตขึ้น
- เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะไม่สุด
- ท้องผูก
- ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดขา
ผู้ป่วยโรคเนื้องอกมดลูกบางราย อาจเกิดอาการปวดเฉียบพลัน เนื่องจากเนื้องอกเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และบางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะการเจริญพันธุ์ เช่น มีบุตรยาก
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น เนื้องอกมดลูก
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเนื้องอกมดลูกมีหลายประการ ได้แก่
อายุ
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเนื้องอกมดลูกมักพบในผู้หญิงวัย 30-40 ปี ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง แต่หากเข้าช่วงหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในมดลูกจะลดลง และหากคนวัยนี้มีเนื้องอกในมดลูก เนื้องอกมักยุบตัวไปเอง
คนในครอบครัวเป็น เนื้องอกมดลูก
หากในครอบครัวมีคนเป็น หรือเคยเป็น ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และหากแม่เป็นเนื้องอกในมดลูก ลูกสาวก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเนื้องอกในมดลูกมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า
โรคอ้วน
ผู้หญิงที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกกว่ามากคนที่น้ำหนักตัวปกติ ยิ่งน้ำหนักตัวมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
นิสัยในการกิน
ผู้ที่ชอบกินเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ รวมถึงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก จะยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกสูงขึ้น
เมื่อใดที่ควรไปพบคุณหมอ
เนื้องอกมดลูก หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลเสียรุนแรงต่อสุขภาพได้ ฉะนั้น หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
- ปวดท้องน้อยหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานไม่หาย
- ปวดท้องประจำเดือน หรือมีประจำเดือนมามาก หรือมานานผิดปกติ
- มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดในช่วงมีประจำเดือน เช่น เลือดออกเป็นก้อน
- ปัสสาวะไม่สุด
- มีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ หรือมีภาวะโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ