backup og meta

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สาเหตุ อาการและการรักษา

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สาเหตุ อาการและการรักษา

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง หายใจไม่ออก และหมดสติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการทำ CPR หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจทันทีอาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

คำจำกัดความ

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest หรือ SCA) เป็นภาวะที่หัวใจหยุดเต้นอย่างกะทันหันส่งผลให้หัวใจหยุดสูบฉีดเลือดไปยังสมอง และอวัยวะสำคัญภายในร่างกาย หัวใจมีระบบไฟฟ้าที่ช่วยควบคุมอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ หากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ ทำให้หัวใจหยุดสูบฉีดเลือด ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันแตกต่างกับอาการหัวใจวาย เนื่องจากสาเหตุของหัวใจวายเกิดจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนกลับไปยังหัวใจได้เนื่องจากการอุดตันของเส้นเลือด และหัวใจมักไม่หยุดเต้นอย่างกระทันหัน แต่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติหัวใจวาย หรือเป็นโรคหัวใจชนิดอื่น นอกจากนี้ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็อาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีสุขภาพดีและไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อนได้เช่นกัน

คนส่วนใหญ่อาจเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีด้วยการทำ CPR หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งเป็นการช็อตไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อปรับการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พบบ่อยแค่ไหน

จากสถิติของสหรัฐอเมริกา หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000-400,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่เพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากผู้ชายมีแนวโน้มเสี่ยงพัฒนาโรคหัวใจมากกว่า จากพฤติกรรมสูบบุหรี่ เสี่ยงความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูงและโรคเบาหวาน นอกจากนี้ เด็กอาจมีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ แต่พบไม่บ่อยซึ่งเด็ก 100,000 คน อาจพบเพียง 1-2 คน/ปี เท่านั้น

อาการ

อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

สัญญาณเริ่มต้นของหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและมีอาการรุนแรง ดังนี้

  • วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง
  • หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว และแน่นหน้าอก
  • หายใจไม่ออก และหมดสติ

ในบางกรณี ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นอย่างกระทันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ซึ่งผู้ป่วยอาจหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ทันที

สาเหตุ

สาเหตุหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มักเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในห้องล่างของหัวใจ อาจมีจังหวะที่เร็วหรือช้าเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ ส่งผลให้ห้องล่างหัวใจสั่น ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังร่างกายได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจอาจหยุดเต้นได้

นอกจากนี้อาจมีโรคและภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ดังนี้

  • ระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติ ส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ การอุดตันของหลอดเลือดส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจ
  • หัวใจวาย เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง ทำให้หัวใจวายและเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
  • โรคลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจที่ผิดปกติอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดหรือขยายมากขึ้นอย่างผิดปกติ อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีความเสี่ยงสูงเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • ความผิดปกติของหัวใจที่สืบทอดทางกรรมพันธุ์
  • ความเครียดทางร่างกาย อาจทำให้ระบบไฟฟ้าในหัวใจล้มเหลว เช่น การออกกำลังกายหนักเกินไป ระดับโพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ร่างกายขาดออกซิเจน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงทำให้ปัจจัยเสี่ยงอาจคล้ายคลึงกัน ดังนี้

  • ประวัติสุขภาพเคยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือประวัติครอบครัวที่เคยเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจพิการแต่กำเนิด
  • คอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไตเรื้อรัง
  • อายุมากขึ้นเสี่ยงต่อหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
  • โภชนาการไม่สมดุล ร่างกายอาจขาดแมกนิเซียมและโพแทสเซียม
  • การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

การวินิจฉัยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเพื่อหาสาเหตุและช่วยป้องกันการเกิดซ้ำในอนาคต ดังนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจดูระดับโพแทสเซียม แมกนีเซียม ฮอร์โมน และสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ ECG) เพื่อตรวจจับรูปแบบการทำงานของไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจ โดยการติดอุปกรณ์ไว้ที่หน้าอก หรือแขนขา
  • การทดสอบด้วยภาพถ่าย เพื่อช่วยให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยสาเหตุของหัวใจเต้นเฉียบพลันได้ตรงจุดมากขึ้น เช่น เอกซ์เรย์ทรวงอก การสแกนนิวเคลียร์ (Nuclear scan) การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary catheterization)

การรักษาหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

เมื่อผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันต้องทำการรักษาทันทีเพื่อช่วยชีวิต ดังนี้

  • การทำ CPR เมื่อผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันการทำ CPR ทันที จะช่วยรักษาการไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนไปยังอวัยวะสำคัญของร่างกายได้
  • การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยการส่งไฟฟ้าผ่านผนังหน้าอกไปยังหัวใจ เพื่อทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติ
  • การรักษาระยะยาว คุณหมออาจแนะนำแนวทางการรักษาอื่น ๆ เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดซ้ำอีก เช่น ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (AICD) การขยายหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ตรงตามโภชนาการ
  • ออกกำลังสม่ำเสมอ เพื่อรักษาน้ำหนักและไขมันให้สมดุล
  • จัดการกับความเครียด
  • งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
  • ตรวจร่างกายประจำปีอยู่เสมอ และตรวจคัดกรองโรคหัวใจ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sudden cardiac arrest. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sudden-cardiac-arrest/symptoms-causes/syc-20350634. Accessed September 23, 2021

Sudden cardiac arrest. Diagnosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sudden-cardiac-arrest/diagnosis-treatment/drc-20350640. Accessed September 23, 2021

Sudden Cardiac Arrest. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/sudden-cardiac-arrest. Accessed September 23, 2021

Heart Attack and Sudden Cardiac Arrest Differences. https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/about-heart-attacks/heart-attack-or-sudden-cardiac-arrest-how-are-they-different. Accessed September 23, 2021

Sudden Cardiac Arrest. https://medlineplus.gov/suddencardiacarrest.html. Accessed September 23, 2021

Men Face Greater Risk of Cardiac Arrest. https://www.webmd.com/heart-disease/news/20160630/men-face-greater-risk-of-cardiac-arrest-study. Accessed September 23, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/05/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

9 อาการโรคหัวใจ ระยะแรก และวิธีป้องกัน

หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

สุขภาพ · คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา