backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจ คุณเองก็เชื่อแบบนี้อยู่หรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/06/2021

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจ คุณเองก็เชื่อแบบนี้อยู่หรือเปล่า

โรคหัวใจ ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของไทยและทั่วโลกมานานหลายปีแล้ว แถมตัวเลขผู้ป่วยและผู้สูงอายุด้วยโรคนี้ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีด้วย แม้เราจะได้ยินชื่อโรคนี้กันมานานมาก แต่ Hello คุณหมอ เชื่อว่า ยังมีใครอีกหลายคนที่ยังคงมี ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ โรคหัวใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งความเชื่อบางประการก็อาจส่งผลให้ประมาทกับโรคนี้มากเกินไป และไม่ทันได้ดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้

5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจ

หลายคนมักจะมี ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจ ดังนั้น เรามาเช็กกันดูค่ะว่า ความเชื่อที่คุณเข้าใจอยู่นั้น แท้จริงแล้วถูกหรือไม่

1. คนอายุยังน้อยไม่เป็นโรคหัวใจง่าย ๆ

จริงอยู่ที่ว่าคนอายุยังน้อยสุขภาพย่อมแข็งแรงกว่าคนอายุมากซึ่งสังขารร่วงโรยไปตามวัย แต่ความจริงข้อนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะรอดพ้นจากโรคหัวใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตก็สามารถส่งผลต่อความเสี่ยงในการโรคหัวใจของคุณได้เช่นกัน อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญยังเผยว่า การมีคราบพลัคสะสมอยู่ตามผนังชั้นในของหลอดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถนำไปสู่ปัญหาหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้เมื่ออายุมากขึ้น

ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อมูลเผยว่า 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ป่วยก็ไม่ได้มีแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นด้วย เพราะวัยรุ่นหรือคนวัยกลางคนก็เป็นโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

2. เข้าสู่วัยกลางคนก่อนค่อยตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า คนเราควรตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือดทุก ๆ 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยยี่สิบต้น ๆ เลย ไม่ใช่รอให้ถึงวัยกลางคนก่อนแล้วค่อยเริ่มตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เหมือนที่ใครหลาย ๆ คนเข้าใจผิด ยิ่งหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ คุณก็ยิ่งต้องเริ่มตรวจคอเลสเตอรอลให้เร็วขึ้นอีก เพราะเด็กที่ครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ อาจพบปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเมื่อโตขึ้นได้มากกว่าคนอื่น

3. หากเคยหัวใจวาย ควรงดออกกำลังกาย

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจอย่างหนึ่งที่เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเชื่อกันอยู่ก็คือ คนเป็นโรคหัวใจหรือเคยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจไม่ควรออกกำลังกาย โดยเฉพาะเมื่อเคยเกิดภาวะหัวใจวายมาก่อน แต่ความจริงแล้ว มีผลงานศึกษาวิจัยที่ชี้ว่า ผู้ที่รอดชีวิตจากหัวใจวายที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่วมกับการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ เช่น กินอาหารดี ๆ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่ไม่ได้ทำเช่นนี้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณก็ต้องออกกำลังกายให้เหมาะสมด้วย เช่น คนที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง จึงจะส่งเสริมสุขภาพได้ดีที่สุดและปลอดภัยด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยหัวใจวายควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย แพทย์จะได้แนะนำวิธีออกกำลังกายเหมาะสมและปลอดภัยที่สุดให้กับคุณได้

4. หากเป็น โรคหัวใจ ควรกินไขมันให้น้อยที่สุด

เมื่อพูดถึงไขมัน หลายคนมักมองว่าสารอาหารชนิดนี้คือผู้ร้ายที่ทำลายสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง ไขมันก็ไม่ได้ร้ายกาจไปเสียหมด ไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพและคุณควรงดหรือลดการบริโภคให้น้อยที่สุด ก็คือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ แต่ยังมีไขมันอีกชนิดที่ดีต่อสุขภาพ นั่นคือ ไขมันไม่อิ่มตัว ที่พบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันงา และอาหารบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ถั่ว ธัญพืช อะโวคาโด

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การกินอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวอย่างโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ และต่อให้คุณเป็นโรคหัวใจ ก็ควรกินไขมันดีให้เพียงพอ ไม่ใช่งดกินไขมันทุกชนิด

5. ที่รู้สึกปวดขาเป็นเพราะอายุเยอะขึ้น ไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจ

เมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกายก็ย่อมเสื่อมถอย ทำให้หลายคนรู้สึกปวดขาเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมาก ๆ แต่คุณรู้ไหมว่า อาการปวดขาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะหากคุณรู้สึกปวดกล้ามเนื้อขา นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease) ซึ่งถือเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มของโรคหัวใจก็ได้

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบจะทำให้มีครบพลัคสะสมอยู่ในหลอดเลือดที่บริเวณขามากขึ้น จนหลอดเลือดอุดตันในที่สุด และเมื่อป่วยเป็นโรคนี้ ก็จะทำให้คุณเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจวาย หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นด้วย

มีข้อไหนบ้างมั้ยคะ ที่เป็นความเชื่อที่คุณเคยเข้าใจผิดมาจนตอนนี้ หลังจากรู้แล้วก็มาดูแลสุขภาพกันอย่างถูกต้องกันเถอะ เพื่อสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงของพวกเรา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา