
โรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นเมื่อเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมองถูกขัดขวางหรือลดลงอย่างมาก ทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งทำให้เซลล์สมองตายและทำให้มีผลเรื้อรัง
คำจำกัดความ
โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือสโตรก เกิดขึ้นเมื่อเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมองถูกขัดขวางหรือลดลงอย่างมาก โรคหลอดเลือดสมองในบางครั้งเรียกว่า “สมองวาย (brain attack)”
กระแสเลือดที่ถูกขัดขวางเป็นเวลานานกว่าสองสามนาที ทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งทำให้เซลล์สมองตายและทำให้มีผลเรื้อรัง
โรคหลอดเลือดสมอง พบได้บ่อยเพียงใด
โรคหลอดเลือดสมองสามารถส่งผลต่อผู้ป่วยได้ทุกวัย สามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
อาการโดยทั่วไปของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- คุณอาจมีอาการอ่อนเพลีย หรืออาการชาเฉียบพลันที่ใบหน้า แขน หรือขา โดยเฉพาะที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย ให้ลองพยายามยกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะไปพร้อมกัน หากแขนข้างหนึ่งเริ่มตกลง หรือปากด้านหนึ่งตกลงเมื่อพยายามยิ้ม อาจจะหมายความว่าคุณเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- การสูญเสียการมองเห็น พละกำลัง การประสานกันของร่างกาย ความรู้สึก การพูด หรือความสามารถในการทำความเข้าใจคำพูดอย่างกะทันหัน
- ปัญหาเกี่ยวกับการพูด และการทำความเข้าใจ คุณอาจมีอาการมึนงง อย่างเช่น พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาในการทำความเข้าใจคำพูด
- ดวงตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างอาจจะมีอาการตาพร่า มองเห็นไม่ชัด ตาบอดกะทันหัน หรือมองเห็นภาพซ้อน
- สูญเสียการทรงตัวกะทันหัน อาจมีอาการอาเจียน คลื่นไส้ มีไข้ สะอึก หรืออาการกลืนลำบากเกิดขึ้นตามมาภายหลัง
- อาการปวดศีรษะกะทันหันและรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุ และมีอาการรู้สึกตัวตามมาภายหลังอย่างรวดเร็ว อาการนี้เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองจากการมีเลือดออก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน อาจสะดุดหรือมีอาการเวียนศีรษะ สูญเสียการทรงตัว หรือสูญเสียการประสานงานกันของร่างกายอย่างกะทันหัน
- หมดสติชั่วคราว
- เวียนศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือหกล้มกะทันหัน
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการบางประการที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณสังเกตได้ถึงสัญญาณหรืออาการต่างๆ ของโรคหลอดเลือดสมอง ถึงแม้ว่าไม่คงที่หรือหายไป ให้เข้ารับการรักษาทันที โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉิน การรักษาที่ทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การดำเนินการแต่เนิ่นๆ สามารถลดความเสียหายของสมองและอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
สาเหตุ
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากสมองขาดเลือด (ischemic stroke) หรือเนื่องจากหลอดเลือด (แตกหรือรั่ว (hemorrhagic stroke) ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองชั่วคราว (transient ischemic attack หรือ TIA)
โรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากสมองขาดเลือด (Ischemic stroke)
หลอดเลือดสมองตีบตันเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดสมองตีบตันหรืออุดตัน ซึ่งทำให้กระแสเลือดลดลงอย่างรุนแรง หลอดเลือดสมองตีบตันที่พบได้มากที่สุด ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมองจากหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic stroke) เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือด ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง ลิ่มเลือดอาจเกิดจากการสะสมตัวของไขมัน (plaque) ที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดและทำให้กระแสเลือดลดลง (atherosclerosis) หรือภาวะอื่นๆ เกี่ยวกับหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดจากการอุดตัน (Embolic stroke) เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดหรือตะกอนก่อตัวขึ้นห่างจากสมอง ซึ่งมักเป็นที่หัวใจ และถูกลำเลียงผ่านทางกระแสเลือดไปสะสมตัวอยู่ในหลอดเลือดสมองที่ตีบลง ลิ่มเลือดประเภทนี้เรียกว่า embolus
โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)
หลอดเลือดสมองแตก เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองรั่วหรือแตก หลอดเลือดสมองแตกสามารถเกิดจากภาวะหลายประการที่ส่งผลต่อหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุม (hypertension) การรักษามากเกินไปด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) และจุดอ่อนแอในผนังหลอดเลือด (aneurysms) สาเหตุที่พบได้น้อยกว่าของหลอดเลือดสมองแตก คือ การแตกของหลอดเลือดผนังบางที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน (arteriovenous malformation) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่คลอด ประเภทของหลอดเลือดสมองแตก ได้แก่
- เลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage) สำหรับเลือดออกในสมองนั้น หลอดเลือดในสมองแตกและเลือดกระจายออกไปยังเนื้อเยื่องสมองโดยรอบ ซึ่งทำให้เซลล์สมองเสียหาย เซลล์สมองเหนือรอยรั่วขาดเลือดและยังเสียหายอีกด้วย ความดันโลหิตสูง อุบัติเหตุ การก่อตัวผิดรูปของหลอดเลือด การใช้ยาสลายลิ่มเลือด และภาวะอื่นๆ อาจทำให้เกิดเลือดออกในสมอง
- เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) สำหรับเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลางนั้น หลอดเลือดในบริเวณหรือใกล้พื้นผิวสมองแตก และเลือดกระจายออกไปยังบริเวณระหว่างพื้นผิวสมองและกะโหลก ภาวะเลือดออกนี้มักมีสัญญาณเตือน จากอาการปวดศีรษะกะทันหันและรุนแรง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง มักเกิดจากการแตกของถุงด้านนอกขนาดเล็กที่มีรูปร่างเหมือนถุงหรือผลเบอร์รี่ในบริเวณหลอดเลือด ที่เรียกว่า aneurysm หลังจากมีเลือดออกที่สมอง หลอดเลือดในสมองอาจขยายตัวและตีบลงอย่างไม่สม่ำเสมอ (vasospasm) ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายที่เซลล์สมองโดยการจำกัดกระแสเลือดต่อไป
สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack: TIA) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า mini-stroke เป็นช่วงอาการในระยะสั้น ที่คล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง การลดลงชั่วคราวของกระแสเลือดไปยังสมองทำให้เกิดภาวะ TIA ซึ่งมักมีอาการน้อยกว่าห้านาที เช่นเดียวกับสมองขาดเลือดชั่วคราว อาการ TIA เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดหรือตะกอนอุดกั้นกระแสเลือดไปยังสมอง อาการ TIA ไม่ทำให้มีอาการเรื้อรัง เนื่องจากการอุดกั้นเกิดขึ้นชั่วคราว
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น
ปัจจัยเสี่ยงจากไลฟ์สไตล์
- ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ขาดการออกกำลังกาย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน (cocaine) และเมธแอมเฟตามีน (methamphetamines)
ปัจจัยเสี่ยงจากภาวะสุขภาพ
- ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเริ่มต้นที่ค่าความดันโลหิตที่สูงกว่า 120/80 มิลลิเมตรของปรอท แพทย์จะช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับค่าความดันโลหิตเป้าหมายตามอายุของคุณ ไม่ว่าคุณเป็นเบาหวานหรือความเสี่ยงอื่นๆ หรือไม่ก็ตาม
- การสูบบุหรี่ หรือการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง
- คอเลสเตอรอลสูง
- เบาหวาน
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งระดับออกซิเจนลดลงเป็นระยะในระหว่างตอนกลางคืน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) ซึ่งได้แก่ หัวใจล้มเหลว (heart failure) โรคหัวใจพิการ (heart defects) หัวใจติดเชื้อ (heart infection) หรือหัวใจเต้นผิดปกติ (abnormal heart rhythm)
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
- ประวัติส่วนตัวหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย หรือสมองขาดเลือดชั่วคราว
- อายุ 55 ปีหรือมากกว่า
- ชนชาติ ชาวแอฟริกัน-อเมริกันมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าชนชาติอื่นๆ
- เพศ: ผู้ชายมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าผู้หญิง ผู้หญิงสูงอายุมักเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือหรือยาฮอร์โมน ซึ่งได้แก่ เอสโตรเจน รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตรอีกด้วย
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
การตรวจในห้องฉุกเฉิน
การตรวจประการแรกหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักเป็นการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจเอกซเรย์ที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีเลือดออกในสมองหรือไม่ การตรวจวิธีนี้จะแสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากหลอดเลือดตีบตัน หรือหลอดเลือดแตก นอกจากนี้ คุณยังสามารถเข้ารับการตรวจ MRI ได้อีกด้วย การตรวจเบื้องต้นอื่นๆ ที่แนะนำสำหรับหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้แก่
- การตรวจ Electrocardiogram (ECG, EKG) เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ
- การตรวจเลือดเพื่อช่วยให้แพทย์หาทางเลือกเกี่ยวกับการรักษาและเพื่อตรวจหาภาวะต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง การตรวจดังกล่าว ได้แก่
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- น้ำตาลในเลือด
- อิเล็กโตรไลต์ (Electrolytes)
- หน้าที่การทำงานของตับและไต
- การตรวจ Prothrombin time และ INR (การตรวจประเภทหนึ่งที่วัดระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือด)
การตรวจที่อาจเข้ารับต่อไป
หากดูเหมือนว่าคุณอาจมีหลอดเลือดคาโรติดตีบตัน แพทย์อาจต้องการให้มีการตรวจดังต่อไปนี้
- การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคาโรติด (Carotid ultrasound)/การตรวจ Doppler scan เพื่อประเมินกระแสเลือดผ่านทางหลอดเลือด
- การตรวจ Magnetic resonance angiogram (MRA)
- การตรวจ CT angiogram
- การตรวจ Carotid angiogram
- หากแพทย์เชื่อว่าโรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ อาจมีการตรวจ echocardiogram หรือ Holter monitoring หรือ telemetry test
มีแนวทางแนะนำว่า ความเสี่ยงต่างๆ สำหรับโรคหัวใจ ยังอาจมีการประเมินได้หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อป้องกันความพิการหรือการเสียชีวิต จากความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจในอนาคต เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) อีกด้วย
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาฉุกเฉินสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง ขึ้นอยู่กับหลอดเลือดสมองตีบตันที่อุดกั้นหลอดเลือด หรือหลอดเลือดสมองแตกที่มีเลือดออกในสมอง
หลอดเลือดสมองตีบตัน
เพื่อรักษาหลอดเลือดสมองตีบตัน แพทย์ต้องฟื้นฟูกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอย่างรวดเร็ว
การรักษาฉุกเฉินด้วยยา
การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ต้องเริ่มต้นภายใน 3 ชั่วโมง หากมีการให้ยาผ่านทางหลอดเลือด และยิ่งเร็วยิ่งดี การรักษาโดยเร็วไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต แต่ยังอาจลดอาการแทรกซ้อนได้ คุณอาจได้รับยาดังต่อไปนี้
- ยาแอสไพริน ยาแอสไพรินเป็นการรักษาที่ได้ผลทันทีในห้องฉุกเฉินเพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ ยาแอสไพรินป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- การฉีดยาสลายลิ่มเลือด การฉีดยา TPA มักดำเนินการผ่านทางหลอดเลือดแขน จำเป็นต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดที่ได้ผลนี้ภายใน 4.5 ชั่วโมง หลังจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองเริ่มเกิดขึ้น หากมีการให้ยาทางหลอดเลือด ยา TPA ทำให้กระแสเลือดกลับคืนสู่ปกติ โดยการละลายลิ่มเลือดที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง และอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีการฟื้นตัวได้ดีมากขึ้น แพทย์ที่ทำการรักษาจะพิจารณาความเสี่ยงบางประการ เช่น เลือดออกที่อาจเกิดขึ้นในสมอง เพื่อดูว่ายา TPA เหมาะสมสำหรับคุณหรือไม่
การรักษาฉุกเฉิน
ในบางครั้ง แพทย์รักษาหลอดเลือดสมองตีบตัน ด้วยการรักษาที่ต้องมีการดำเนินการโดยเร็วที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของลิ่มเลือด
- ยาที่ลำเลียงไปยังสมองโดยตรง แพทย์อาจใส่ท่อยาวขนาดเล็ก (สายสวน) ผ่านทางหลอดเลือดในขาหนีบและเคลื่อนที่ไปยังสมองเพื่อลำเลียงยา TPA โดยตรงไปยังบริเวณที่เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- การกำจัดลิ่มเลือดโดยใช้เครื่องมือ แพทย์อาจใช้สายสวนเพื่อนำเครื่องมือขนาดเล็กไปยังสมอง เพื่อทำลายหรือดูดและนำลิ่มเลือดออกมา
การรักษาวิธีอื่นๆ
เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ หรือสมองขาดเลือดชั่วคราว แพทย์ที่ทำการรักษาอาจจะแนะนำหัตถการ เพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบตันจากการสะสมตัวของไขมันในบางครั้ง แพทย์จะแนะนำหัตถการดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ทางเลือกมีความหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์
- การผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid endarterectomy) แพทย์นำคราบไขมันออกจากหลอดเลือดคอแต่ละข้างที่ไปยังสมอง (เส้นเลือดคาโรติด) หัตถการนี้อาจลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันได้ อย่างไรก็ดี การผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองยังเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือภาวะสุขภาพอื่นๆ
- การผ่าตัดขยายหลอดเลือด (Angioplasty) และขดลวดตาข่าย (stents) แพทย์จะเข้าถึงหลอดเลือดคาโรติดได้มากที่สุดผ่านทางหลอดเลือดในขาหนีบ ในบริเวณนี้ แพทย์จะตรวจพบเส้นเลือดคาโรติดที่คออย่างเบาและปลอดภัย แล้วใช้บอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือดตีบตัน แล้วใส่ชิ้นปิดเพื่อพยุงหลอดเลือดที่เปิดออก
หลอดเลือดสมองแตก
การรักษาฉุกเฉินสำหรับหลอดเลือดสมองแตกมุ่งเน้นการควบคุมภาวะเลือดออกและลดความดันในสมอง ยังอาจมีการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตอีกด้วย
มาตรการฉุกเฉิน
หากคุณใช้ยาวาร์ฟาริน (warfarin) อย่างคูมาดิน (Coumadin) หรือยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet drugs) เช่น ยาคลอพิโดเกรล (clopidogrel) อย่างพลาวิกซ์ (Plavix) เพื่อป้องกันลิ่มเลือด คุณอาจได้รับยา หรือการถ่ายส่วนประกอบของเลือดเพื่อต้านฤทธิ์ของยาละลายลิ่มเลือด คุณยังอาจได้รับยาต่างๆ เพื่อลดความดันในสมอง (intracranial pressure) ลดความดันโลหิต ป้องกันการบีบเกร็งของหลอดเลือด (vasospasm) หรือป้องกันอาการชัก
ทันทีที่ภาวะเลือดออกในสมองหยุดลง การรักษามักเกี่ยวกับการรักษาเพื่อพยุงอาการในขณะที่ร่างกายดูดซึมเลือด การรักษาคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่แผลฟกช้ำรุนแรงหายไป หากบริเวณที่มีเลือดออกมีขนาดใหญ่ แพทย์ที่ทำการรักษาอาจทำการผ่าตัด เพื่อนำเลือดออกและบรรเทาแรงดันในสมอง
การผ่าตัดรักษาหลอดเลือด
อาจมีการผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติของหลอดเลือด ที่สัมพันธ์กับหลอดเลือดสมองแตก แพทย์ที่ทำการรักษาอาจแนะนำหนึ่งในหัตถการเหล่านี้ หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือหากหลอดเลือดโป่งพองหรือเส้นเลือดขอดในสมอง (arteriovenous malformation: AVM) หรือความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดประเภทอื่นๆ ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองแตก
- การผ่าตัดแล้วใช้คลิปหนีบ (Surgical Clipping) แพทย์จะวางปากจับขนาดเล็กที่ด้านล่างของหลอดเลือดโป่งพองเพื่อห้ามเลือดที่ไหลเวียนไปถึง ปากจับนี้ป้องกันหลอดเลือดโป่งพองไม่ให้แตกหรือสามารถป้องกันเลือดไหลออกจากหลอดเลือดโป่งพองอีกครั้งที่มีเลือดออกไม่นานมานี้
- การใส่ขดลวด (endovascular embolization) แพทย์ใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดในขาหนีบและนำไปยังสมองโดยใช้การถ่ายภาพเอกซเรย์ แล้วแพทย์จะนำขดลวดขนาดเล็กที่แยกออกได้ใส่ไปยังหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm coiling) ขดลวดอยู่ในหลอดเลือดโป่งพองและทำให้เลือดแข็งตัว
- การผ่าตัดเส้นเลือดขอดในสมอง (AVM removal) แพทย์จะผ่าตัดนำเส้นเลือดขอดในสมอง (AVM) ขนาดเล็กกว่าออกไป หากอยู่ในบริเวณที่เข้าถึงได้ของสมอง เพื่อลดความเสี่ยงในการแตก และลดความเสี่ยงหลอดเลือดสมองแตก อย่างไรก็ดี เป็นไปไม่ได้ทุกครั้งไปที่จะตัดเส้นเลือดขอดในสมอง (AVM) ออก หากการผ่าตัดทำให้เกิดการทำหน้าที่ของสมองลดลงเป็นอย่างมาก หรือหากมีขนาดใหญ่หรืออยู่ลึกลงไปในสมอง
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงในสมอง (Intracranial bypass) ในสถานการณ์เฉพาะ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดในสมองอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษากระแสเลือดที่ไหลเวียนไม่ดีไปยังบริเวณสมอง หรือรอยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ซับซ้อน เช่น การรักษาหลอดเลือดโป่งพอง
- การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic radiosurgery) ด้วยการใช้รังสีความถี่สูงที่หลากหลาย การฉายรังสีร่วมพิกัดเป็นการรักษาขั้นสูง ที่มีผลกระทบต่อร่างกายน้อย ที่ใช้เพื่อรักษาการก่อตัวที่ผิดรูปของหลอดเลือด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการกับโรคหลอดเลือดสมอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยรับมือกับโรคหลอดเลือดสมองได้
- ใช้ไม้ค้ำยันหรือไม้เท่าเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ล้ม
- ช่วยเรื่องการแต่งตัว ให้ปรึกษานักบำบัดวิชาชีพเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยเอื้อมจับ เครื่องช่วยใส่ถุงเท้า และเครื่องช่วยติดกระดุม ที่สามารถช่วยให้คุณแต่งตัวได้
- ห้ามละเลยด้านที่ได้รับผลกระทบ เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะใช้ร่างกายเฉพาะด้านที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง แต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะเอาใจใส่ร่างกายส่วนที่เหลืออีกด้วย
- จัดการปัญหาการรับประทาน: คุณอาจไม่สามารถสัมผัสอาหารในปากด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสำลัก คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม หรือการประเมินโดยนักบำบัดการพูด
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด