backup og meta

อาการปวดข้อศอก เรื่องเล็กๆ แต่มาพร้อมกับอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/08/2020

    อาการปวดข้อศอก เรื่องเล็กๆ แต่มาพร้อมกับอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

    คุณผู้อ่านเคยมีอาการ ปวดข้อศอก กันบ้างหรือไม่ อาการปวดข้อศอกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงสาเหตุที่รุนแรงอย่างอุบัติเหตุ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ อาการปวดข้อศอก ให้มากขึ้นกับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ

    อาการปวดข้อศอก เกิดขึ้นได้อย่างไร

    อาการปวดข้อศอก (Elbow pain) นั้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การอักเสบหรือเกิดอาการตึงที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อน หรือบริเวณเส้นเอ็น แต่อาการเช่นนี้เป็นเพียงไม่นาน หากมีการดูแลในเบื้องต้นก็สามารถที่จะหายจากอาการปวดข้อศอกได้

    นอกเหนือจากการอักเสบต่างๆ อาการปวดข้อศอกยังอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรงเช่น ตกต้นไม้ ตกบันได ประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยว รถชน ก็สามารถที่จะส่งผลให้เกิดอาการไหล่หลุด ข้อศอกหลุด ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป นอกจากนี้อาการปวดข้อศอกก็ยังสามารถเกิดจากการโรคที่เกี่ยวกับไขข้อได้เหมือนกัน เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคข้อเสื่อม เป็นต้น

    ปวดข้อศอก อันตรายหรือไม่

    เราไม่สามารถพูดได้ว่า อาการปวดข้อศอก ไม่อันตราย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อศอก อาการปวดข้อศอกโดยทั่วไปที่เกิดจากความเมื่อยล้า อาการตึง หรืออาการอักเสบที่บริเวณเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นของข้อศอก สามารถที่จะดีขึ้นได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน แต่ถ้าหากเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง จนเกิดอาการบวม ฟกช้ำ มีไข้ หรือเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่ว่าด้วยเรื่องของข้อต่อ ข้อเสื่อม หรือข้ออักเสบ ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในระยะยาวและจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาจากคุณหมอและแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ

    วิธีการรักษาอาการปวดข้อศอก

    วิธีการรักษาสำหรับผู้ที่มี อาการปวดข้อศอก จำเป็นที่จะต้องรักษาตามสาเหตุและอาการที่เป็น เช่น หากเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง อาจสามารถปฐมพยาบาลในขั้นต้นด้วยการประคบน้ำแข็งหรือประคบเย็น และอาจมีการรับประทานยาที่ลดการเจ็บปวดและอาการอักเสบ รวมถึงการใช้ยาทาภายนอกร่วมด้วย อาจมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางในการใช้งานช่วงข้อศอก ไปจนถึงการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อบริเวณข้อศอกก็ช่วยในการรักษาได้เช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม ถ้าหาก อาการปวดข้อศอก ไม่หายไปในเร็ววัน หรือมีอาการที่รุนแรงมากกว่าเดิม อาจจำเป็นต้องทำการรักษาทางการแพทย์ เช่น การฉีดยาเพื่อลดความเจ็บปวด การผ่าตัด การใส่เฝือก และการใช้ยาปฏิชีวนะที่ช่วยลดอาการอักเสบและอาการเจ็บปวด

    ป้องกันและรับมือกับ อาการปวดข้อศอก ได้อย่างไรบ้าง

    อาการปวดข้อศอก มักเกิดจากการใช้งานข้อศอกมากจนเกินไปจนก่อให้เกิดอาการตึงและอักเสบ ดังนั้นในการป้องกันขั้นต้นเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดข้อศอก อาจทำได้ดังนี้

    • หากจะออกกำลังกาย ควรที่จะมีการวอร์มอัพร่างกายเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของร่างกายก่อนเสมอ
    • ปรับปรุงท่าทางทั้งการยืน การนั่ง หรือการนอน ระวังไม่ให้มีการใช้งานข้อศอกผิดวิธี เช่น การใช้งานข้อศอกมากเกินไป การนอนทับบริเวณข้อศอก การยกของหนัก เพราะจะส่งผลให้เกิด อาการปวดข้อศอก ได้
    • หมั่นออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความยืดหยุ่นให้ร่างกายและอวัยวะอย่างกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อ เพื่อลดความตึงหรืออักเสบจนเกิดอาการปวดข้อศอก
    • หยุดพักบ้างหากรู้สึกถึงความเมื่อยล้าที่บริเวณแขนหรือข้อศอก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 28/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา