
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) หมายถึงสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการส่งสัญญาณประสาทจากสมองไปยังใบหน้าและดวงตา ทำให้เกิดอาการหนังตาตก รูม่านตาหดเล็กลง และมีเหงื่อที่ใบหน้าน้อยลง
คำจำกัดความ
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ คืออะไร
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) หมายถึงสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการส่งสัญญาณประสาทจากสมองไปยังใบหน้าและดวงตา ทำให้เกิดอาการหนังตาตก รูม่านตาหดเล็กลง และมีเหงื่อที่ใบหน้าน้อยลง แม้ว่าโดยรวมแล้วอาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์นี้อาจจะไม่ได้รุนแรงอะไร แต่ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสภาวะที่รุนแรงได้เช่นกัน
โดยปกติแล้ว กลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นมักจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น เนื้องอก โรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บ และเพราะสาเหตุที่มีมากมายเหล่านี้ จึงทำให้การรักษากลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นจะขึ้นอยู่กับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุต้นตอของอาการ เพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของระบบประสาทให้กลับมาเป็นปกตินั่นเอง
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ พบบ่อยแค่ไหน
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดสอบถามแพทย์
อาการ
อาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
อาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นมักจะส่งผลกระทบกับดวงตาและใบหน้าส่วนหนึ่ง อาการที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- รูม่านตาหดเล็กเป็นเวลานาน อาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง
- เปลือกตาหย่อนคล้อย หนังตาตก โดยไม่สามารถควบคุมได้
- ม่านตาจะขยายช้าเมื่ออยู่ในที่มืด ทำให้มองเห็นในที่มืดได้ยาก
- เปลือกตาล่างอาจจะยกขึ้นมาเล็กน้อย
- ใบหน้ามีเหงื่อน้อย จนถึงไม่มีเลย อาจเกิดกับทั้งหน้า หรือเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า
- เด็กทารกและเด็กเล็กอาจจะมีดวงตาข้างหนึ่งสีอ่อนกว่าอีกข้าง และอาจจะไม่มีอาการหน้าแดงที่ใบหน้าด้านหนึ่ง
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
คุณควรไปหาแพทย์เพื่อทำการตรวจในทันที หากคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมกับอาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
- การมองเห็นมีปัญหา
- วิงเวียน หน้ามืด
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้
- ปวดหัวหรือปวดคออย่างรุนแรง กะทันหัน
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาแพทย์
สาเหตุ
สาเหตุของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นเกิดขึ้นจากการที่ทางเดินประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system) บางส่วนเกิดการเสียหาย สามารถพบได้ตั้งแต่ตั้งแต่กำเนิด หรืออาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาสุขภาพในภายหลังก็ได้เช่นกัน โดยสามารถแบ่งได้ตามเซลล์ประสาทที่ได้รับผลกระทบ
เซลล์ประสาทลำดับที่ 1 (First-order neurons)
หมายถึงเซลล์ประสาทที่อยู่ระหว่างไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่ฐานสมอง ผ่านไปยังส่วนของก้านสมอง และไขสันหลังส่วนบน การที่เซลล์ประสาทส่วนนี้เกิดความเสียหาย อาจมีสาเหตุมาจาก
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- เนื้องอก
- โรคที่ทำให้เกิดการเสียหายที่ปลอกหุ้มเซลล์ประสาท
- การบาดเจ็บที่คอ
- ซีสต์ หรือโพรงในกระดูกสันหลัง
เซลล์ประสาทลำดับที่ 2 (Second-order neurons)
หมายถึงเซลล์ประสาทส่วนที่ขยายจากกระดูกสันหลัง มายังหน้าอกส่วนบน และด้านข้างลำคอ การเสียหายของเซลล์ประสาทส่วนนี้อาจมีสาเหตุมาจาก
- โรคมะเร็งปอด
- เนื้องอกที่ปลอกหุ้มเซลล์ประสาท
- หลอดเลือดแดงเสียหาย
- การผ่าตัดหน้าอก
- การบาดเจ็บรุนแรง
เซลล์ประสาทลำดับที่ 3 (Third-order neurons)
หมายถึงเซลล์ประสาทที่ขยายจากด้านข้างลำคอ ไปยังใบหน้า และกล้ามเนื้อที่ควบคุมเปลือกตาและม่านตา การเสียหายของเซลล์ประสาทส่วนนี้อาจมีสาเหตุมาจาก
- หลอดเลือดในบริเวณคอเสียหาย
- เนื้องอก หรือการติดเชื้อใกล้กับบริเวณกะโหลกศีรษะ
- ไมเกรน หรืออาการปวดหัวอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ เด็กทารกก็อาจจะมีอาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ได้ เนื่องจาก
- การบาดเจ็บในบริเวณคอหรือไหล่ขณะคลอด
- ปัญหาหลอดเลือดผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด
- เนื้องอกในระบบประสาท
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
คุณอาจจะมีโอกาสเกิดกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ได้มากกว่าปกติ หากมีสภาวะดังต่อไปนี้
- ได้รับบาดเจ็บที่คอหรือหัว
- การติดเชื้อ
- เนื้องอกในปอด
- โรคมะเร็งปอด
- เนื้องอกในต่อมไทรอยด์
- ปวดหัวไมเกรน
- โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือด หรือหลอดเลือดสมองโป่งพอง
- การผ่าตัด
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
แพทย์สามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ได้ โดยเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกาย เพื่อดูอาการต่างๆ หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจจะมีอาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ ก็อาจจะทำการตรวจด้วยการทดสอบหยอดตา เพื่อเปรียบเทียบปฏิกิริยาของดวงตาทั้งสองข้าง หากผลการทดสอบระบุว่าอาการนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากการเสียหายของระบบประสาท ก็อาจจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
การตรวจเพิ่มเติมอาจมีดังต่อไปนี้
- เอ็มอาร์ไอ (MRI)
- ซีทีสแกน (CT scan)
- เอ็กซเรย์
- ตรวจเลือด
- ตรวจปัสสาวะ
การรักษากลุ่มอาการฮอร์เนอร์
การรักษากลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้น จะไม่มีการรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจง แต่จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ เนื่องจากจากสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นมีหลากหลาย จึงทำให้การรักษานั้นหลากหลายตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากกลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นเกิดขึ้นจากเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง ก็อาจต้องใช้การทำเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีบำบัด เพื่อจัดการกับปัญหามะเร็ง รวมไปถึงการผ่าตัดเนื้องอกออกไป
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเลยก็ได้
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการฮอร์เนอร์นั้นมีอยู่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงไม่มีวิธีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับกลุ่มอาการฮอร์เนอร์นี้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่จะเน้นไปที่การรักษากับโรคที่เป็นสาเหตุต้นตอของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
หากคุณสังเกตพบอาการของกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ หรือหากมีคำถามข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด