backup og meta

โคลนนิ่งมนุษย์ เป็นจริงได้ หรือไร้ความหวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 14/07/2020

    โคลนนิ่งมนุษย์ เป็นจริงได้ หรือไร้ความหวัง

    คุณผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องราวของการโคลนนิ่ง ทั้งการโคลนนิ่งพืช หรือการโคลนนิ่งสัตว์ ตลอดจนความพยายามในการโคลนนิ่งสัตว์ที่ได้สูญพันธ์ุลงไปแล้วกันมาบ้าง หลายครั้งที่เราจะได้ข่าวว่ามีการโคลนนิ่งพืชหรือสัตว์แล้วประสบความสำเร็จ จนเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษากันต่อไป หากแต่คำว่า “โคลนนิ่งมนุษย์’ ที่ดูน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะมีทั้งดีเอ็นเอ และระบบโครงสร้างต่างๆ ที่สามารถจะเอื้อให้การทดลองนี้สำเร็จได้ แต่ทำไมเราถึงไม่เคยได้ยินข่าวคราวของความสำเร็จในการโคลนนิ่งมนุษย์เลย Hello คุณหมอ มีเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับการโคลนนิ่งมนุษย์มาฝากกันค่ะ

    การโคลนนิ่ง คืออะไร

    การโคลนนิ่ง หรือ การโคลน (Cloning) คือกระบวนการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ หรือก็คือการสืบพันธุ์ที่ไม่ผ่านการปฏิสนธิด้วยสเปิร์มและไข่ ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นจะมีลักษณะเหมือนกันกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบทุกประการ

    แม้จะฟังดูเป็นการทดลองในห้องแล็บ หากแต่การโคลนตามธรรมชาตินั้นอาจพบได้ในสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียหรือพืชบางชนิด ที่มีการแบ่งเซลล์ใหม่ออกมาได้เหมือนกันกับเซลล์ต้นแบบทุกประการ 

    เคยมีการโคลนนิ่งที่ประสบความสำเร็จหรือไม่

    มีการโคลนนิ่งเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์โลกหลายครั้ง แต่การโคลนนิ่งที่โด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือ การโคลนนิ่งแกะที่ชื่อดอลลี่ ในปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นผลงานของ เอียน วิลมัธ (Ian Wilmut) กับ เคธ แคมป์เบล (Keith Campbell) และทีม แห่งสถาบัน Roslin Institute แห่ง University of Edinburgh และบริษัท PPL Therapeutics 

    โดยแกะที่ชื่อดอลลี่แม้จะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตตัวเเรกของโลกที่เกิดขึ้นมาจากการโคลน แต่เป็นผลงานที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงมากและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แกะดอลลี่เกิดจากการโคลน โดยใช้เซลล์โซมาติกของแกะที่โตเต็มวัยมาเป็นเซลล์ต้นแบบ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการโคลนด้วยวิธีที่เรียกว่า การถ่ายโอนนิวเคลียส (Nuclear transfer) และคลอดออกมาเป็นแกะที่ชื่อดอลลี่ อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านไป 6 ปี แกะดอลลี่ก็เสียชีวิตลง

    ทำไมต้องมีการโคลนนิ่ง

    กระบวนการโคลนนิ่ง เป็นกระบวนการที่ศึกษาขึ้นมาเพื่อมุ่งหวังที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ทาง ดังนี้

    เพื่อกระบวนการรักษาโรค

    มีนักวิจัยหลายคนพยายามศึกษาเกี่ยวกับการโคลนนิ่ง เพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะกับกระบวนการที่เรารู้จักกันดีอย่าง สเต็มเซลล์ (Stem Cell) ที่ช่วยในการเสริมสร้าง ซ่อมแซม และรักษาร่างกายของมนุษย์

    สเต็มเซลล์ สามารถที่จะซ่อมแซมอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่เสียหาย และใช้ในการรักษาโรคทางพันธุกรรมได้ แต่เนื่องจากสเต็มเซลล์จะต้องถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์จึงต้องการที่จะโคลนนิ่งสเต็มเซลล์จากใครก็ตามที่เป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง มาใช้รักษาผู้ที่เป็นโรคชนิดเดียวกัน 

    เพื่อผลลัพธ์ทางเกษตรกรรม

    การโคลนนิ่งพืชหรือปศุสัตว์ โดยมีการตัดแต่งและโคลนนิ่งพันธุกรรมที่อาจช่วยในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต หรือจำนวนให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้อาจยังมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยจากผลผลิตที่มาจากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการโคลน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายกรณีที่ประสบความสำเร็จและไม่มีผลข้างเคียงกับผลิตผลที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการโคลน

    เพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธ์

    เป็นที่รู้กันดีว่ามีสัตว์หลายชนิดสูญพันธ์ และเสี่ยงที่กำลังจะสูญพันธ์ุ การโคลนจึงเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตนั้นๆ เพื่อประโยชน์ในการให้มนุษย์ได้ศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นต่อไป

    เพื่อการผลิตยารักษาโรค

    นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นแนวทางที่จะผลิตวัคซีน โดยการนำนิวเคลียสจากสัตว์ชนิดหนึ่งไปเข้าสู่กระบวนการโคลน เพื่อที่จะได้ยีนของสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนหรือตัวยารักษาโรคได้

    การ โคลนนิ่งมนุษย์ กับความเป็นไปได้

    ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยถึงความสำเร็จในการโคลนนิ่งมนุษย์ออกมา แม้จะมีข่าวคราวออกมาบ้างเป็นระยะ แต่ยังไม่มีครั้งไหนที่มีการบอกชัดเจนว่าได้กระทำการโคลนมนุษย์อย่างสมบูรณ์แล้ว

    ดังนั้นความใกล้เคียงที่สุดก็คือการโคลนนิ่งสัตว์ และใกล้เคียงยิ่งกว่านั้นคือความสำเร็จในการโคลนนิ่งลิงแสมของประเทศจีน ที่ใช้หลักการเดียวกันกับการโคลนนิ่งแกะดอลลี่ แม้ว่าจะไม่ใช่การโคลนนิ่งมนุษย์แต่ลิงก็ถือเป็นเผ่าพันธ์ุที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

    อุปสรรคของการโคลนนิ่งมนุษย์

    การโคลนนิ่งมนุษย์ ได้รับการคัดค้านในเรื่องที่ว่า การโคลนมนุษย์นั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีหรือไม่ มนุษย์ที่เกิดจากการโคลน จะสามารถเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ รวมไปถึงปัญหาในการจำแนกดีเอ็นเอ และระบบลายนิ้วมือ ของมนุษย์ต้นแบบกับมนุษย์ที่โคลนออกมานั้นจะมีการจำแนกได้อย่างไร รวมถึงหากมนุษย์โคลนมีการกระทำความผิด จะสามารถตรวจสอบเอาผิดกับมนุษย์โคลนนั้นได้อย่างไร ในเมื่อมีลักษณะทุกอย่างที่เหมือนกับมนุษย์ต้นแบบทุกประการ รวมไปถึงมีความกังวลในเรื่องของการนำมนุษย์โคลนมาใช้ในเชิงของการค้าและพาณิชย์

    จากปัญหาเหล่านี้ จึงมีหลายองค์กรจากหลายประเทศได้ออกมาคัดค้าน ห้ามไม่ให้มีการทดลองการโคลนนิ่งมนุษย์อย่างเด็ดขาด ถึงแม้จะมีผลพวงที่เป็นไปในแง่ลบและยังมีความน่าเป็นห่วง แต่ก็ยังมีคนมองถึงประโยชน์แห่งการโคลนในแง่ที่ว่า สามารถใช้ในกรณีที่ไม่สามารถมีบุตรได้ เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถมีทายาทเป็นของตนเอง รวมถึงประโยชน์ของการโคลนนิ่งในวงการแพทย์และด้านอื่นๆ

    เรื่องของการโคลนมนุษย์ดูจะยังไร้วี่แววของความสำเร็จในห้วงเวลานี้ แต่ในอนาคตเราอาจจะพบกับความสำเร็จของการโคลนนิ่งมนุษย์ เมื่อถึงเวลาที่เทคโนโลยีมีความพร้อม และข้อตกลงทางศีลธรรมมีทางออกที่สามารถยอมรับได้

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 14/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา