คำจำกัดความ
กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ คืออะไร
กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) หรือภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ เกิดขึ้นจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เส้นประสาทบนฝ่ามือ ที่ทำให้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งหนึ่งสามารถรับความรู้สึกได้ เมื่อเส้นประสาทมีเดียนนี้ถูกกดทับ จะทำให้มือเกิดอาการเหน็บชา หรืออ่อนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อการขยับของมือและแขนได้
กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นจัดได้ว่า เป็นอาการกดทับเส้นประสาทที่พบได้มากที่สุด โดยสามารถพบได้มากถึง 90% ของอาการกดทับเส้นประสาททั้งหมด
กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือพบบ่อยแค่ไหน
กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นสามารถพบได้ประมาณ 3.8% จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมักจะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจะพบได้บ่อยในกลุ่มของผู้สูงอายุ 40-60 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่านั้นเช่นกัน
อาการ
อาการของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
- รู้สึกแสบร้อน เหน็บชา หรืออาการคันในบริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง
- มือไม้อ่อน ไม่สามารถจับของได้อย่างถนัด
- รู้สึกไม่มีแรงที่มือ
- นิ้วกระตุก
- รู้สึกซ่าตามข้อมือขึ้นไปจนถึงแขน
ในช่วงแรกๆ คุณอาจจะรู้สึกว่ามีอาการมือชา อ่อนแรง หรือเป็นเหน็บ ทำให้เคลื่อนไหวมือได้ลำบากมากขึ้น เมื่ออาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้สูญเสียแรงจับเพราะกล้ามเนื้อมือหดตัว นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดและตะคริวที่มืออีกด้วย
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณสังเกตพบว่า อาการของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ทำให้ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวมือได้ตามใจชอบ หรือมีอาการปวดที่รบกวนการนอนหลับของคุณ ควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจทำให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียหายอย่างถาวรได้
สาเหตุ
สาเหตุของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น การพิมพ์งาน การจับมือถือ หรือการเล่นเปียโน ที่ทำให้ข้อมือของคุณเคลื่อนไหวในลักษณะเดิมซ้ำๆ
- สภาวะต่างๆ เช่น โรคอ้วน ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- การตั้งครรภ์
โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
คุณอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือมากกว่า หากมีปัจจัยดังต่อไปนี้
- เพศหญิง สภาวะนี้สามารถพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- ประวัติคนในครอบครัว หากคนในครอบครัวของคุณเคยมีอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ คุณก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้
- สุขภาพ หากคุณมีสภาวะต่างๆ เช่น สภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นประสาท อาการอักเสบ หรือโรคอ้วน ก็อาจทำให้คุณมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
- งาน งานที่ต้องเคลื่อนไหวมือและข้อมือแบบเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจ Tinel sign โดยการเคาะเบาๆ ที่ข้อมือด้านข้าง เพื่อดูว่ารู้สึกเจ็บที่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ หรือนิ้วกลางหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะทำการตรวจด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การแสกนข้อมือ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวน์ หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างของกระดูกและเนื้อเยื่อในข้อมือได้อย่างชัดเจน
- การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electromyogram) เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทในบริเวณข้อมือ
- การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve Conduction Study) เพื่อวัดสัญญาณของเส้นประสาทที่แขนและมือของคุณ
การรักษากลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
การรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค โดยอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ โดยการหยุดพัก หรือลดการเคลื่อนไหวแบบซ้ำๆ ในบริเวณข้อมือ
- ออกกำลังกาย โดยการยืดเส้น หรือเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อที่บริเวณข้อมือ เพื่อช่วยให้อาการปวดหรือเหน็บชาที่ข้อมือนั้นดีขึ้น
- ใส่เฝือก เพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ และช่วยลดแรงกดดันไปยังเส้นประสาท การใส่เฝือกนี้อาจจะช่วยลดอาการเหน็บชา และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ยา การใช้ยาลดการอักเสบ หรือยาสเตียรอยด์อาจจะช่วยลดอาการบวมที่ข้อมือได้
- การผ่าตัด ในกรณีรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด เพื่อรักษาอาการเส้นประสาทกดทับ
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ มีดังนี้
- หยุดพักการใช้มือ พยายามหลีกเลี่ยง และหยุดพักการใช้มือข้างที่มีปัญหา โดยเปลี่ยนไปใช้มืออีกข้างแทน หรือถ้าใช้ก็อย่าใช้นาน หลีกเลี่ยงการเกร็งมือข้างนั้นเป็นเวลานาน เช่น การเขียนหนังสือ หรือการจับเมาส์นานๆ
- ปรับเปลี่ยนท่าทาง การอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง อาจเพิ่มแรงตึงเครียดให้เส้นประสาทและข้อมือได้ ลองปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งและการวางมือให้เหมาะสม อาจจะช่วยลดอาการเส้นประสาทกดทับได้
- ทำให้มืออุ่นอยู่เสมอ อากาศหนาวอาจทำให้อาการปวดข้อมือนั้นรุนแรงขึ้นได้ พยายามรักษาความอบอุ่นของบริเวณข้อมือไว้เสมอ เช่น ใส่ถุงมือ หรือสวมเสื้อแขนยาว เป็นต้น
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-bmi]