backup og meta

ลูกต้องเข้าผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่เตรียมพร้อมอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/03/2022

    ลูกต้องเข้าผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่เตรียมพร้อมอย่างไร

    การผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรค ในบางกรณีอาจต้องผ่าตัดฉุกเฉิน หรือในบางกรณีก็ต้องมีการนัดหมายกันล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความรุนแรงของสภาวะทางการแพทย์ที่พบ แต่เมื่อ ลูกต้องเข้าผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่อาจเครียด หรือเป็นกังวล แต่สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคุณหมอ หรือการเตรียมของใช้สำหรับพักฟื้นที่โรงพยาบาล

    วิธีเตรียมพร้อมเมื่อ ลูกต้องเข้าผ่าตัด

    สำหรับวิธีเตรียมพร้องเมื่อลูกต้องเข้าผ่าตัดของคุณพ่อคุณแม่ อาจทำได้ดังนี้

    คุยกับคุณหมอให้เข้าใจ

    สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำเมื่อลูกต้องเข้าผ่าตัด ก็คือ คุยกับคุณหมอที่รับผิดชอบเคสของลูก เพื่อเข้าใจถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการผ่าตัด เช่น ความเสี่ยงในการผ่าตัด ประเภทและความเสี่ยงของยาระงับความรู้สึก หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรถามคุณหมอให้กระจ่าง เพื่อจะได้อธิบายให้ลูกฟังต่อได้ นอกจากนี้ พ่อคุณแม่อาจต้องบอกคุณหมอให้ละเอียดด้วยว่า ลูกมีสุขภาพเป็นอย่างไร มีโรคประจำตัว หรือปัญหาสุขภาพหรือไม่ หากเป็นเด็กเล็กหรือทารกที่ยังอยู่ในช่วงกินนมแม่ คุณหมออาจถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและประวัติการใช้ยาของคุณแม่ด้วย

    ลูกต้องเข้าผ่าตัด คุณก็ควรดูแลตัวเองให้ดีก่อน

    เมื่อ ลูกต้องเข้าผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกเครียดหรือเป็นกังวล แต่ไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเอง จนต้องเข้าโรงพยาบาลอีกคนแล้ว ยังอาจทำให้ลูกเครียดตามได้ด้วย ฉะนั้น หากรู้สึกเครียดควรหาวิธีคลายเครียด เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ อย่าปล่อยให้ความเครียดสะสม หากทำกิจกรรมโปรดแล้วยังไม่หายเครียด การปรึกษาคุณหมอก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

    อาจบอกให้ลูกรู้ถึงความจำเป็นในการผ่าตัด

    ก่อนที่ลูกจะต้องเข้าผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องไปโรงพยาบาล ทำไมต้องเข้าผ่าตัด ผ่าตัดแล้วดียังไง ซึ่งอาจต้องใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และฟังแล้วไม่น่ากลัว เช่น ใช้คำว่า “เอาออก” แทนคำว่า “ตัด” และต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ถามในสิ่งที่สงสัย รวมถึงควรให้กำลังใจและแลกเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าใจผิด เพราะเด็กบางคนอาจมองว่าการผ่าตัดเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งได้ หรือหากเด็กเคยเห็นคนในครอบครัวเสียชีวิตในโรงพยาบาลก็อาจรู้กลัวและคิดว่าตัวเองจะเป็นเช่นนั้น หากไม่รู้จะอธิบายบางเรื่องให้ลูกฟังยังไง อาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือคุณหมอที่จะต้องผ่าตัดให้พวกเขาก็ได้

    อาจปล่อยให้ลูกได้ทำตัวสมกับเป็นเด็ก

    การกอด การหัวเราะ การเล่นสนุก คือ ส่วนหนึ่งของการเป็นเด็ก ฉะนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ทำตัวเหมือนกับทุกวันที่ผ่านมา แต่อาจจะต้องคอยดูแลไม่ให้เล่นอะไรที่ผาดโผน หรือเสี่ยงอันตรายเกินไป หากคุณพ่อคุณแม่ทำเหมือนลูกเป็นไข่ในหินในช่วงก่อนผ่าตัด ไม่ยอมให้ออกไปเล่นกับเพื่อน บังคับให้อยู่นิ่ง ๆ ตลอดอาจยิ่งทำให้เด็กเครียด และแม้ตัวเองจะเครียดแค่ไหน แต่การกอดและการใช้เวลาร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเด็ดขาด โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่ลูกจะต้องเข้าผ่าตัด

    อาจแพ็คของเล่นชิ้นโปรดของลูก

    เมื่อถึงเวลาต้องจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมตัวไปโรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่อาจชวนลูกมาจัดกระเป๋าด้วยกัน ให้ลูกได้เลือกว่าอยากเอาของเล่นชิ้นโปรด หรือของชิ้นไหนไปบ้าง หรือหากเป็นเด็กทารก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องแพ็คข้าวของเครื่องใช้ที่เด็กคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม จุกนมหลอก ขวดนม แม้กระทั่งเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีกลิ่นของคุณพ่อคุณแม่ไปด้วย เพราะเมื่อต้องไปผ่าตัดหรือพักฟื้นที่โรงพยาบาล หากลูกได้อยู่กับของที่คุ้นเคย ก็อาจช่วยให้ผ่อนคลาย และสบายใจมากขึ้น

    ในวันนัดผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่ควรปรับตารางนัดหมายของตัวเองให้เหมาะสม ทางที่ดีควรเลื่อนนัดอื่น ๆ และต้องพาลูกไปถึงโรงพยาบาลก่อนเวลาผ่าตัดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทุกฝ่ายจะได้มีเวลาเตรียมตัว ไม่ต้องทำอะไรแบบฉุกละหุก และจะได้ไม่รบกวนเวลาของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยรายอื่นด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 13/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา