backup og meta

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของโลกและเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยิ่งอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลดไขมันในเลือด และการลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางประการ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการรักษาด้วยยา และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ อาจเป็นวิธี การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และอาจช่วยให้ควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีขึ้นด้วย

[embed-health-tool-bmi]

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) คืออะไร

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease หรือ Coronary artery disease) คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจ (Coronary arteries) อุดตัน โดยปกติแล้ว เลือดในหลอดเลือดแดงจะไหลเข้าตอนที่หัวใจบีบตัวและมีแรงดัน แต่การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดหัวใจจะแตกต่างจากหลอดเลือดแดงอื่น ๆ เพราะเลือดจะไหลเข้าหลอดเลือดหัวใจได้ก็ต่อเมื่อหัวใจคลายตัว เนื่องจากในตอนที่หัวใจบีบตัวจะมีแรงดันสูงมากจนเลือดไม่สามารถไหลเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ตอนหัวใจคลายตัว แรงดันที่หัวใจลดลงมาก จนเลือดแดงในหลอดเลือดแดงใหญ่สามารถไหลเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลำเลียงอาหารและออกซิเจนปริมาณมากไปเลี้ยงหัวใจได้

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าผนังหลอดเลือดในบริเวณใดอักเสบหรือเสียหายก็จะมีไขมันและแคลเซียมมาเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือดนั้น ๆ ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณนั้นแคบลง เลือดจึงไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงอวัยวะปลายทางได้น้อย นอกจากนี้ เลือดที่ไหลช้าลงยังทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่ายขึ้น จนอาจกลายเป็นลิ่มเลือดเกาะตัวในหลอดเลือดได้ และถ้าหากมีแรงดันเลือดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ลิ่มเลือดที่เกาะอยู่บริเวณผนังหลอดเลือดหลุดและไหลไปอุดตันในหลอดเลือดที่อวัยวะต่าง ๆ ได้

หากหลอดเลือดหัวใจแคบลงเพราะเคยอักเสบหรือเสียหาย จนไขมันพอกหนาส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก อาจทำให้หัวใจขาดเลือดและออกซิเจน จนนำไปสู่อาการแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มากดทับ หรือบางคนอาจรู้สึกว่ามีแรงกดทับหรือแรงบีบอัดที่หัวไหล่ แขน คอ กราม และหลังได้

หากหลอดเลือดหัวใจตีบมากจนเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ หรือมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดจนเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และหากรักษาไม่ทัน ก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดหัวใจ

หากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ เช่น หลอดเลือดตีบ มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้

  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวาย เกิดจากเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ไม่ดีนักจนทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นผลจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด และถ้าหากไม่สามารถทำให้หลอดเลือดหายอุดตันได้อย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นเวลานาน จนเสียหายและตายอย่างเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าหัวใจวาย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลงอย่างมาก และทนทานต่อการขาดเลือดได้น้อยลง จนอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว หรือปัญหาที่ร้ายแรงกว่าได้

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ สัญญาณและอาการที่บ่งบอกถึงโรคนี้โดยทั่วไปคือ เหนื่อยง่าย หายใจหอบ หรือเริ่มหายใจติดขัด น้ำหนักขึ้นกะทันหัน และมีอาการบวมที่ข้อเท้า เท้า ขา ท้องและหลอดเลือดดำที่คอ อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดจากหัวใจไม่สามารถระบายเลือดออกไปได้ทัน ทำให้เกิดน้ำคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เมื่ออาการเริ่มแสดงออกจะรู้สึกได้ว่ามีการหายใจหอบจากการเคลื่อนไหวตามปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นบันได การเดิน

  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในภาวะปกติ หัวใจจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ คือประมาณ 70-100 ครั้งต่อนาทีในขณะพัก และอาจจะเต้นเร็วมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมที่ใช้แรงหรือออกกำลังกาย โดยอัตราการเต้นของหัวใจอาจขึ้นอยู่กับอายุด้วย แต่ไม่ว่าจะเต้นเร็วหรือเต้นช้า การเต้นของหัวใจจะมีจังหวะสม่ำเสมอ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ภาวะที่หัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ เช่น เต้นช้ามาก เต้นเร็วมาก เต้น ๆ หยุด ๆ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น หน้ามืด หรือหัวใจเต้นรัว จนอาจทำให้หมดแรงและหัวใจหยุดเต้นไปในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อภายในหลอดเลือดหัวใจถูกทำลายจากปัจจัยต่าง ๆ ที่พบมาก เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก การไม่ออกกำลังกาย อายุมาก พันธุกรรม นอกจากนี้ โรคเบาหวานอาจหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

การรักษาและดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความดันและคอเลอเตอรอลในเลือด ทั้งยังอาจช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงได้

การควบคุมอาหาร

โภชนาการที่ดีถือเป็นเรื่องพื้นฐานในการควบคุมโรคเบาหวานและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานอาหารตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รับพลังงานหรือแคลอรี่จากอาหารจำพวกไขมันประมาณ 25-35% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน แต่ไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกิน 10% ของไขมันทั้งหมดที่บริโภค และไม่ควรรับประทานคอเลสเตอรอลเกิน 300 มก. ต่อวัน แหล่งไขมันดีที่แนะนำ เช่น น้ำมันมะกอก ธัญพืช ปลาไขมันสูง (เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน) อะโดคาโด ถั่วเหลือง
  • รับพลังงานจากอาหารจำพวกโปรตีนประมาณ 10-15% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน โดยปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม คือ บริโภคโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. จากแหล่งโปรตีนที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ เนื้อปลา นม เต้าหู้
  • รับพลังงานจากอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตประมาณ 50-60% ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับต่อวัน โดยเลือกแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่หลากหลายและมีไฟเบอร์สูง เช่น เมล็ดพืชและธัญพืชไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต) ผักใบเขียว เผือก มันเทศ
  • ไม่ควรบริโภคเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป (ไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัม/วัน) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงและเป็นโรคไต
  • หากต้องการเติมรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม ควรเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวานหรือสตีเวีย ซูคราโลส แอสปาแตม ทั้งนี้ ควรเลือกประเภทให้เหมาะสมกับวิธีประกอบอาหาร และควรใช้ในปริมาณน้อยที่สุด และไม่ควรใช้สารให้ความหวานมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ซอร์บิทอล ฟรุกโตส
  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคระบบประสาท

การรักษาโรคเบาหวานด้วยยา

หากควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายแล้วยังไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ยากลุ่มไบกัวไนด์ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องรับประทานยาที่ช่วยลดและควบคุมระดับไขมันในเลือด เช่น ยากลุ่มไฟเบรท ยากลุ่มสแตติน เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย

ประโยชน์ของยากลุ่มสแตติน

ยากลุ่มสแตติน เช่น อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) ซิมวาสแตติน (Simvastatin) ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin) เป็นยาลดไขมันในเลือดที่นิยมใช้ในการรักษาระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากช่วยลดไขมันชนิดเลวหรือไขมันแอลดีแอล (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจช่วยเพิ่มไขมันเอชดีแอล (HDL) หรือไขมันดีได้ด้วย

ยากลุ่มสแตตินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับและในเนื้อเยื่ออื่น ๆ เมื่อเอนไซม์นี้ถูกยับยั้ง จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลภายในตับลดลง ตับจึงดูดซึมคอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดมาใช้โดยการสร้างตัวรับไขมันแอลดีแอล (LDL-receptor) บนเซลล์ตับให้มากขึ้น จึงส่งผลให้ระดับของไขมันแอลดีแอลในกระแสเลือดลดลง นอกจากนี้ กลุ่มยาสแตตินยังเป็นยาที่ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานดีขึ้น และลดกระบวนการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานได้

การใช้ยากลุ่มสแตตินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ที่เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2556 แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุ 40-75 ปีที่มีค่าไขมัน LDL มากกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงแข็ง ควรได้รับยาสแตตินร่วมในการรักษาด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยากลุ่มสแตตินเพื่อลดระดับไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบขนาดยาที่เหมาะสม และคุณหมออาจแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

นอกจากการรับประทานอาหารและใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย อาจยิ่งช่วยลดความเสี่ยงในการภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และช่วยให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น

  • งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างการเดิน การเต้นแอโรบิก เป็นต้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที

LIPI-2022-0060

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

MANAGEMENT OFDIABETES MELLITUS. https://applications.emro.who.int/dsaf/dsa509.pdf. Accessed January 14, 2022

Cholesterol and Statins. https://www.fda.gov/media/82811/download. Accessed January 14, 2022

Statin Therapy: Treatment Guidelines. https://www.scanhealthplan.com/-/media/scan/documents/providers/5star/provider-and-provider-groups/g1019910-statin-therapy-tip-sheet_v1d-final.pdf. Accessed January 14, 2022

Diabetes, Heart Disease, & Stroke. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/heart-disease-stroke. Accessed January 14, 2022

Diabetes and Your Heart. https://www.cdc.gov/diabetes/library/features/diabetes-and-heart.html. Accessed January 14, 2022

Coronary artery disease and diabetes mellitus. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4672945/. Accessed January 14, 2022

Watching Sodium When You Have Diabetes. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=85&contentid=P00352#:~:text=People%20with%20diabetes%20are%20told,than%202%2C300%20mg%20per%20day. Accessed January 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เรื่องใกล้ตัวที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้

ควบคุมเบาหวาน ไม่อยู่ อาจเสี่ยงเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา