ในสมัยก่อนผู้หลักผู้ใหญ่มักใช้วิธีให้เราหายสะอึก ด้วยการแกล้งเราให้ตกใจ จนเราลืมเลือนอาการนี้ไป เพราะมัวแต่โฟกัสกับสิ่งที่กลัว หรือโดนหลอก แต่ในบางครั้งวิธีดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ผลสำหรับใครหลาย ๆ คน และยังสร้างผลเสียต่อสุขภาพหัวใจของเราได้อีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอนำเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงการ แก้อาการสะอึก แบบธรรมชาติ ที่คุณสามารถเลือกรักษาเองได้ตามที่คุณสะดวก มาฝากทุกคนกันค่ะ
วิธี แก้อาการสะอึก ไม่ให้มารบกวนคุณ
สาเหตุสำคัญประการนึงที่ทำให้คุณมีอาการสะอึก อาจเกิดมาจากการกระบังลมของคุณเกิดการหดตัวอย่างกะทันหัน จนทำให้คุณเกิดการหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งอากาศที่ผ่านเข้ามาจึงถูกขัดขวางโดยเส้นเสียงที่ปิดลงจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้คุณเกิดอาการสะอึกแบบมิได้ตั้งใจ แต่คุณสามารถนำวิธีเหล่านี้ ไปรักษาตนเองได้ เพื่อให้หายจากอาการสะอึก
1. กลืนน้ำตาล
ตามรายงานวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine; NEJM) ศึกษาถึงการใช้น้ำตาลที่มีโมเลกุลขนาดเล็กในปริมาณ 1 ช้อน ทำให้ผู้ที่มีอาการสะอึก 19 คนจาก 20 ราย มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพราะพวกเขาเชื้อว่าเม็ดน้ำตาลสามารถเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาท ที่นำไปสู่การรบกวนการสะอึก ให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่าง จนอาการนี้ดีขึ้น
2. การกำหนดลมหายใจ
อย่างแรกให้คุณล้มตัวลงนอน หรือนั่งตัวตรงในท่าที่สบาย จากนั้นหายใจเข้า และกลั้นหายใจไว้ประมาณ 10 วินาที เมื่อครบกำหนด ให้คุณทำการหายใจออกมาช้า ๆ ควรทำวิธีนี้ประมาณ 3 – 4 ครั้ง โดยทิ้งระยะห่างไว้ 20 นาที
3. อุดหูขณะดื่มน้ำ
แม้ว่าจะเป็นวิธีค่อนข้างแปลก ก็ยังคงอยู่ในตัวเลือกที่สามารถนำมาแก้อาการสะอึกได้ โดยเพียงแค่คุณอุดหูทั้ง 2 ข้าง ด้วยอุปกรณ์เฉพาะ เช่น หูฟัง ฟองน้ำอุดหู เป็นต้น จากนั้นทานน้ำ 1 แก้วตามลงไป ซึ้งวิธีนี้ในวารสารทางการแพทย์ของชาวแคนาดา แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน ได้ทำการระบุไว้ ว่าเป็นวิธีธรรมชาติที่ค่อนข้างได้ผล
4. เลือกทานอาหารรสเปรี้ยว
เพียงแค่หยดน้ำส้มสายชูลงบนลิ้น หรือดูดน้ำจากผลมะนาว ก็อาจทำให้คุณหายจากการสะอึกได้เช่นเดียวกัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จากการทดสอบผลรักษาที่ได้ระบุไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine; NEJM) พบว่าวิธีธรรมชาติเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วย 14 คน จาก 16 รายมีอาการหายสะอึก
5. กอดหัวเข่าให้แนบชิดหน้าอก
นั่งตัวตรงในท่าที่คุณคิดว่าสบายที่สุด จากนั้นชันหัวเข่าขึ้นไปยังบริเวณหน้าอก และทำการกอดหัวเข่าทั้งสองข้างไว้ เป็นเวลา 2 นาที การแก้อาการสะอึกด้วยวิธีนี้อาจช่วยหยุดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกระบังลมที่เป็นต้นเหตุทำให้คุณเกิดอาการสะอึกได้
วิธีข้างต้นจะเห็นผลเร็ว หรือช้า นั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคล หากคุณมีอาการสะอึกนานกว่าปกติ โปรดเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้องตามขั้นตอน พร้อมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องต้น เพราะอาการสะอึกสำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีที่มาจากโรคแทรกซ้อนที่คุณกำลังเป็นอยู่แบบไม่รู้ตัว
[embed-health-tool-bmi]