backup og meta

เท้าแบน อาการผิดปกติของเท้าที่คุณอาจไม่รู้ตัว และอาจก่อปัญหามากกว่าที่คิด

เท้าแบน อาการผิดปกติของเท้าที่คุณอาจไม่รู้ตัว และอาจก่อปัญหามากกว่าที่คิด

ถ้าคุณมีอาการเจ็บปวดบางอย่างที่ขาหรือเท้าอยู่บ่อยๆ โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ และไม่ได้เกิดจากโรคอะไร หนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือ ปัญหาความผิดปกติของสรีระของตัวคุณเอง และหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยก็คือ ปัญหาจากรูปลักษณะของเท้าที่ผิดปกติ ที่เรียกกันว่า เท้าแบน

เท้าแบนคืออะไร

เท้าแบน (Flat Feet) คือ ลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า เมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด ตรงกลางฝ่าเท้าที่โค้งขึ้นมานั้นคืออุ้งเท้า (Arch) ซึ่งทอดไปตามแนวยาวและแนวขวางของฝ่าเท้า อุ้งเท้าเกิดจากการยึดกันระหว่างเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกเท้า โดยเส้นเอ็นที่เท้าเองและเส้นเอ็นส่วนที่ต่อจากขาส่วนล่างจะยึดกระดูกตรงกลางเท้าเข้ากับส้นเท้า ทำให้กลางฝ่าเท้าโค้งเข้ามาและไม่ราบไปกับพื้น ภาวะเท้าแบนเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากฝ่าเท้าของเด็กมีไขมันและเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้มองเห็นอุ้งเท้าตรงฝ่าเท้าได้ไม่ชัด แต่เมื่อโตขึ้นช่องโค้งก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมา บางคนอาจได้รับการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวมาทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ภาวะเท้าแบนอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุ

เท้าแบนสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทดังนี้

  • อาการเท้าแบนแบบนิ่ม ลักษณะเท้าแบนชนิดนี้พบได้บ่อยและทั่วไป ซึ่งเป็นอาการที่เท้ามีลักษณะผิดปกติคือ ผู้ที่มีความผิดปกติจะไม่ค่อยมีอุ้งเท้าและเท้าจะแบนราบไปกับพื้นไม่มีส่วนโค้งเว้า
  • อาการเท้าแบนแบบแข็ง เป็นลักษณะของอาการที่ไม่ค่อยพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ ลักษณะของเท้าแบนชนิดนี้จะมีความผิดปกติของข้อเท้าคือ อุ้งเท้าจะนูนออก เท้าผิดรูป มีลักษณะกลับด้านนอกออกใน

เท้าแบนส่วนใหญที่มีลักษณะแบบแบนนิ่ม จะไม่ก่อให้เกิดการเจ็บเท้า แต่เท้าแบนอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ข้อเท้าและเข่าได้เนื่องจากความผิดปกติของเท้า โดยอาการเจ็บปวดของเท้าแบนที่พบอาจได้แก่

  • เมื่อยขาง่าย
  • เจ็บที่อุ้งเท้า
  • อุ้งเท้าบวม
  • การเคลื่อนไหวเท้าลำบาก
  • ปวดหลังและขา

สาเหตุของการเกิดอาการเท้าแบน

อาการเท้าแบนเกิดได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรมกล่าวคือ เป็นตั้งแต่เกิด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใครที่มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด และเป็นลักษณะของอาการเท้าแบนแบบนิ่ม หากอาการไม่รุนแรงมาก จะสามารถหายเป็นปกติได้เองเมื่อโตขึ้น แต่นอกจากนี้อาการเท้าแบนยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นได้ก็คือ

  • เส้นเอ็นยืดหรือฉีก
  • เอ็นที่ยึดหน้าแข้งส่วนหลังที่เรียกว่าเอ็นท้ายกระบอกถูกทำลาย หรือมีการอักเสบ
  • กระดูกหักหรืออยู่ผิดที่
  • มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เป็นโรคข้อเสื่อมรูมาตอยด์
  • มีปัญหาเรื่องเส้นประสาท

การวินิจฉัยอาการเท้าแบน

ตรวจพื้นรองเท้าของคุณว่ามีความผิดปกติบ้างหรือไม่ เพราะพื้นรองเท้าสามารถบอกได้ว่า คุณเดินผิดปกติไม่เป็นธรรมชาติบ้างหรือไม่ นอกจากนี้ยังอาจใช้การทดสอบแบบง่ายๆ ต่อไปนี้ เพื่อตรวจสอบว่า คุณอาจมีอาการเท้าแบนหรือไม่

  • ทำให้เท้าเปียก
  • ยืนบนพื้นที่มีผิวเรียบและสามารถมองเห็นรอยเท้าของคุณได้ชัดเจน เช่น พื้นทางเดินคอนกรีต
  • ก้าวออกไปและมองที่รอยเท้า หากคุณเห็นภาพรอยเท้าแบบเต็มฝ่าเท้า โดยไม่มีส่วนโค้งเว้าเลย นั่นอาจหมายความว่าคุณมีอาการเท้าแบน

สำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ อาจมีตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย เช่น ประวัติสุขภาพ เพื่อหาหลักฐานของอาการป่วยและบาดเจ็บว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการเท้าแบนบ้างหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น รวมทั้งเส้นเอ็นอื่นๆ ที่อยู่บริเวณเท้าและขาเช่น เอ็นร้อยหวาย การเอกซเรย์ หรือทำเอ็มอาร์ไอข้อเท้าเพื่อวินิจฉัยอาการเท้าแบน

อาการเท้าแบนรักษาอย่างไร

การรักษาโรคเท้าแบนขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของปัญหา ถ้าหากอาการเท้าแบนไม่ได้สร้างความเจ็บปวดหรือมีอาการแทรกซ้อนใดๆ อาการเท้าแบนอาจจะไม่ต้องรับการรักษาก็ได้ แต่ในกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ หมออาจแนะนำให้รักษาอาการดังนี้

  • พักและประคบน้ำแข็งเพื่อลดอาการปวดและบวม
  • ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ
  • กินยาบรรเทาอาการปวด เช่น กลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่มีสารสเตียรอยด์
  • ทำกายภาพบำบัด
  • ใช้ไม้พยุง เปลี่ยนรองเท้าเพื่อให้เข้ากับอาการ
  • ใช้ยาฉดเพื่อลดอาการอักเสบ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์

หากอาการปวดหรือมีอาการเท้าแบนที่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีศัลยกรรมดังนี้

  • การถอดกระดูกและปลูกกระดูก
  • ตัดแต่งและเปลี่ยนรูปทรงของกระดูก
  • การนำเส้นเอ็นจากส่วนอื่นของร่างกายมาเพิ่มเส้นเอ็นที่ข้อเท้า เพื่อมาช่วยในเรื่องของความสมดุล และการรวมกันของเอ็นที่ข้อเท้าให้เหมือนปกติมากที่สุด
  • การปลูกถ่ายกระดูกที่เท้าเพื่อให้การสร้างข้อเท้าเป็นธรรมชาติมากขึ้น

การดูแลตัวเองพื้นฐานสำหรับผู้มีอาการเท้าแบน

  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดอาการบาดเจ็บจากการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
  • เมื่อเกิดอาการปวดให้พยายามพักผ่อนและใช้น้ำแข็งประคบหรือกินยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่มีสารสเตียรอยด์  เช่น ไอบูโพรเฟน และปรึกษาหมอก่อนเสมอหากคุณเลือกกินยาชนิดอื่นนอกเหนือจากนี้ หรือมีอาการข้างเคียงอื่นๆจากอาอาการเท้าแบน
  • พยายามดูแลตนเองอย่าให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการเท้าแบนแย่ลงกว่าเดิม เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเท้าอย่างหนักและใช้ข้อเท้าโดยตรง เช่น การวิ่ง
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่อาจส่งผลกระทบต่ออาการเท้าแบนอย่างมาก เช่น บาสเก็ตบอล ฮอกกี้ ฟุตบอล และเทนนิส
  • หากได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากกิจกรรมต่างๆ ควรรีบไปพบหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอาการและรักษาต่อไป

 

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to know about flat feethttps://www.medicalnewstoday.com/articles/168608.phpAccessed on July 22,2018

What Are Fallen Arches?https://www.webmd.com/pain-management/what-are-fallen-arches#1Accessed on July 22,2018

5 Remedies for Flat Foot Pain Caused by Your Flip-Flopshttps://www.healthline.com/health/flat-feet-pain-tipsAccessed on July 22,2018

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/07/2020

เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ส้นเท้าแตก เท้าแห้ง สาเหตุและการดูแล

รองช้ำ สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา