มือบวม เป็นภาวะที่มีปริมาณของเหลวเพิ่มมากขึ้นในเนื้อเยื่อบริเวณมือ ส่งผลให้มือมีลักษณะบวมใหญ่ขึ้นผิดปกติ เวลากดบริเวณที่บวมอาจยุบลง ซึ่งมือบวมอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อน สภาพแวดล้อม การรับประทานอาหาร หรือการออกกำลังกาย แม้มือบวมอาจไม่น่ากังวล แต่อาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการบวมอาจเกิดขึ้นได้ที่ขา แขน หรือส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
มือบวม คืออะไร
มือบวม คือ มือที่มีอาการบวมขึ้นมาผิดปกติ อาจสามารถเกิดขึ้นได้ที่มือข้างใด ข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง หากกดลงไปบริเวณที่บวมอาจจะยุบลงได้ อาจสังเกตได้จากการใส่แหวน หรือเครื่องประดับที่เคยใส่อาจรู้สึกคับแน่นขึ้น
สาเหตุของมือบวม
สาเหตุของมือบวม อาจมีหลายปัจจัย เช่น
- อากาศที่ร้อน อาจทำให้หลอดเลือดในร่างกายเกิดการขยายตัว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายให้เย็นลง โดยการหลั่งเหงื่อออกมา แต่ถ้าอากาศร้อนชื้น ร่างกายอาจหลั่งเหงื่อได้ไม่ดี ทำให้ของเหลวที่อยู่ใต้ผิวหนังไม่สามารถขับออกมา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมือบวมได้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะอาจทำให้ร่างกายลดการไหลเวียนของเลือด และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นลม
- การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ปกติร่างกายต้องการโซเดียมปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เช่น อาหารที่มีเกลือ น้ำปลา หรือโซเดียมปริมาณเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งอาจทำให้ไตกำจัดของเหลวในร่างกายได้ไม่ดีเท่าที่ควร และอาจทำให้ของเหลวส่วนเกินค้างสะสมอยู่ภายในร่างกาย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง หรือลดการกินเค็ม
- การออกกำลังกาย อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ แต่อาจทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณมือ ส่งผลให้มือเย็น จนอาจทำให้หลอดเลือดในมือตอบสนองด้วยการขยายกว้างขึ้น ทำให้หลังออกกำลังกายมืออาจบวมได้ รวมถึงภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นภาวะที่อาจพบในนักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายต่อเนื่องนาน ๆ หากมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน เวียนศีรษะ
ขณะออกกำลังกายควรถอดแหวน และคลายสายนาฬิกาไม่ให้รัดแน่นเกินไป ควรแกว่งแขนไปด้านหน้า และด้านหลัง รวมถึงควรบริหารมือด้วยการกำมือ และแบมืออย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดอาการมือบวมได้
- การตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน รวมถึงระบบการไหลเวียนเลือด อาจทำให้เกิดอาการบวมที่ใบหน้า สำคอ หรือเท้าได้เช่นกัน อาจพบในคุณแม่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่ตั้งครรภ์อาจวางมือไว้บนหมอนสูง เพื่อลดปัจจัยอาการมือบวม
- โรคไต หรือปัญหาเกี่ยวกับไต เนื่องจากไตมีหน้าที่ในการกำจัดของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย หากไตทำงานบกพร่องอาจทำให้เกิดการสะสมของเหลวในเนื้อเยื่อของร่างกาย แล้วอาจเกิดอาการมือบวม
- โรคข้ออักเสบ อาการข้ออักเสบอาจทำให้มือบวม และอาจทำให้ข้อต่อมีอาการตึง โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจสังเกตเห็นได้ในช่วงเช้า โดยประเภทของโรคข้ออักเสบ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์
วิธีการรักษาและลดอาการมือบวม
การการรักษา และลดอาการมือบวมอาจทำได้ ดังต่อไปนี้
- ลดปริมาณเกลือ และโซเดียมลงในแต่ละวัน ควรหมั่นรับประทานผัก ผลไม้ เช่น บร็อคโคลี่ อะโวคาโด มะเขือเทศ องุ่น เชอร์รี่ ที่มีคุณประโยชน์จากธรรมชาติ
- นวดมือเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยกระจายของเหลวสะสมส่วนเกินออกจากบริเวณที่บวม
- พยายามยกมือที่บวมขึ้นเหนือระดับหัวใจหลาย ๆ ครั้งในแต่ละวัน รวมถึงในขณะนอนหลับควรวางมือบนกองหมอน เพราะอาจช่วยทำให้เลือดที่คั่งอยู่ไหลกลับสู่ร่างกาย
- บำบัดด้วยน้ำแข็ง หรือความเย็น การประคบเย็นทันทีหลังได้รับบาดเจ็บอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และอาจลดอาการบวมได้ เนื่องจากความเย็นอาจทำให้จำกัดการไหลเวียนของเลือด ควรประคบอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 30 นาที
- สวมใส่ถุงมือรัดข้อมือ หรือสายรัดที่พอดีกับข้อมือ ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจช่วยป้องกัน และลดการเกิดการสะสมของเหลวส่วนเกินภายในเนื้อเยื่อของมือ
- รับประทานยาลดการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน แต่ไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์ ซึ่งการรับประทานยาควรปรึกษาคุณหมอ หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาการของมือบวมก่อน
หากอาการมือบวมไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย เพราะอาจมีภาวะอื่นแทรกซ้อนได้
[embed-health-tool-bmi]