จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Complementary Therapies in Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการนวดกดจุดเพื่อบรรเทาอาการกับอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยมีผู้เข้าร่วมที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างรับการทดสอบด้วยการนวดกดจุดเป็นเวลา 40 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ติดต่อกัน จากนั้นวัดผลด้วยการให้ตอบแบบสอบถามการสำรวจสุขภาพ พบว่า ผู้ที่เข้ารับการนวดกดจุดมีอาการปวดหลังส่วนล่างดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของการนวดกดจุดในการรักษาอาการปวดหลัง
ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Sciences Published by Tottori University Medical Press ปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการนวดกดจุดต่อภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ โดยคัดเลือกผู้สูงอายุที่มีอาการท้องผูกจำนวน 60 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับการนวดกดจุด 30 คน และกลุ่มที่รับการทดสอบวิธีอื่น 30 คน โดยกลุ่มที่ได้รับการนวดกดจุดจะถูกนวดบริเวณฝ่าเท้า 3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที เป็นเวลา 1 เดือน พบว่า การนวดกดจุดอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกในผู้สูงอายุได้อย่างมีนัยสำคัญ
การนวดแบบสวีดิช คือ ศาสตร์การนวดโดยใช้เทคนิคการมือสับ ทุบ ตบ และคลึงบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยแรงเบาและหนักสลับกันตามจังหวะ และอาจใช้น้ำมันในการนวดร่วมด้วยเพื่อช่วยลดการเสียดสี เพิ่มความผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการนวดบำบัดแบบสวีดิชต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในสตรีที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 23 คน อายุ 35-60 ปี ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้เข้ารับการนวดแบบสวีดิชเป็นเวลา 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง จากนั้นทำการวัดระดับความดันโลหิตทั้งก่อนและหลังการนวดเพื่อนำมาเปรียบเทียบ พบว่า การนวดแบบสวีดิชอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีตามจังหวะการบีบและการนวด ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจดีขึ้นและลดความดันโลหิตลงอย่างมีนัยสำคัญ
นวดด้วยหินร้อน
การนวดด้วยหินร้อน เป็นการนวดด้วยหินบะซอลต์ (Basalt) ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟชนิดหนึ่ง ที่สามารถกักเก็บความร้อนได้ดี และถูกนำมาทำให้พื้นผิวเรียบในขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่เหมาะสำหรับวางและนวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยก่อนนวดผู้เชี่ยวชาญจะนำหินไปอบเพิ่มความร้อนประมาณ 130-145 องศาเซลเซียส และนำออกมาวางทิ้งไว้ให้อุณหภูมิลดลงเพื่อป้องกันผิวไหม้ จากนั้นจะนำมาวางตามแนวกระดูกสันหลัง หน้าท้อง หน้าอก ฝ่ามือ เท้า และใช้รูปแบบการนวดเป็นวงกลมวนบนผิวด้วยแรงเบา หรือใช้รูปแบบการนวดสวีดิชร่วมด้วย การนวดด้วยหินร้อนอาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเอ็นที่ยึดตึง ทำให้รู้สึกสบายตัวและนอนหลับง่ายขึ้น
จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Research in Medical Science ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบการของนวดบำบัดด้วยหินร้อนต่อการนอนหลับของผู้ป่วยที่ฟอกไต โดยการทดสอบครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 60 คน ที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการนวดด้วยหินร้อน 30 คน และกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยวิธีอื่น 30 คน โดยผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยหินร้อนจะถูกวางหินไว้บริเวณตามแนวกระดูกสันหลัง เมื่อสิ้นสุดการทดสอบพบว่าผู้ป่วยฟอกไตที่นวดด้วยหินร้อน มีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น และมีความผ่อนคลายในระหว่างฟอกไตเมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม
ข้อควรระวังของการนวด
ข้อควรระวังของการนวด มีดังนี้
- บางคนอาจมีอาการแพ้ต่อน้ำมันหรืออุปกรณ์ที่ใช้นวด ส่งผลให้ผิวหนังเป็นผื่น ลมพิษ ผิวแดง แสบ และระคายเคือง ดังนั้น จึงควรแจ้งให้ผู้ให้บริการทราบเมื่อมีอาการผิดปกติระหว่างนวด หรือแจ้งผู้ให้บริการนวดก่อนหากมีอาการแพ้ต่อสารบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันและอุปกรณ์ชนิดนั้น
- การนวดกดจุดอาจส่งผลข้างเคียงทำให้วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อารมณ์อ่อนไหวง่าย และไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงพักฟื้นร่างกายจากการบาดเจ็บ และสตรีตั้งครรภ์เพราะอาจทำให้มีการไหลเวียนเลือดไม่ดี เป็นลิ่มเลือด และหลอดเลือดอักเสบได้
- ไม่ควรเลือกการนวดหินร้อนหากมีประวัติเกี่ยวกับลิ่มเลือด โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคกระดูกพรุน รวมถึงมีแผลเปิดบนผิวหนัง อยู่ในช่วงตั้งครรภ์และพักฟื้นร่างกายจากการผ่าตัด อีกทั้งควรระวังผลข้างเคียงจากการนวด เช่น ผิวไหม้ แสบผิว
- สำหรับสตรีตั้งครรภ์ควรเลือกการนวดให้เหมาะสมต่อสุขภาพและอายุครรภ์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยจากการรับน้ำหนักทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนเข้ารับการนวด และหลีกเลี่ยงการนวดน้ำมันอโรมาขณะตั้งครรภ์หรือหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันที่สกัดจากโหระพา พาสลีย์ สะระแหน่ ทาร์รากอน (Tarragon) ต้นเบิร์ช (Birch) เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และเกิดการระคายเคืองผิวของคุณแม่
ก่อนการนวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดความเครียด ลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ ควรศึกษาสถานบริการ ผู้ให้บริการ ผลข้างเคียง หรือเข้าขอปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อเลือกรูปแบบการนวดได้อย่างเหมาะสมกับภาวะสุขภาพ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย