backup og meta

ลมพิษ รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2022

    ลมพิษ รักษาได้อย่างไร

    ลมพิษ คือ รอยผื่นแดงนูนบนผิวหนัง ทำให้รู้สึกคัน ระคายผิว สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย และสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุอาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมี การแพ้ยาบางชนิด การแพ้อาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ลมพิษ รักษา ด้วยตัวเองได้ ด้วยการดูแลผิวอย่างถูกวิธี และการทายาเพื่อบรรเทาอาการ โดยทั่วไป หากดูแลอย่างถูกต้อง ลมพิษสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ลมพิษลุกลามขยายใหญ่ขึ้น กระทบต่อการชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    ลมพิษ คืออะไร

    ลมพิษ คือ ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูน เป็นแผ่นรอยแดงกระจายเป็นวงกว้าง เกิดขึ้นเมื่อผิวสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ละอองเกสรดอกไม้ ถูกแมลงกัดต่อย จนทำให้รู้สึกคัน ระคายเคืองผิว ลมพิษอาจหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจทิ้งรอยจาง ๆ บนผิวหนังไปอีกหลายวัน โดยลมพิษอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    1. ลมพิษแบบเฉียบพลัน เป็นลมพิษที่เกิดบนผิวหนังในระยะสั้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักเกิดจากอาหาร ยารักษาโรค เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด การติดเชื้อ หรือแมลงกัดต่อย ลมพิษประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ก็สามารถหายได้เอง
    2. ลมพิษแบบเรื้อรัง เป็นลมพิษที่เกิดบนผิวหนังเกิน 6 สัปดาห์ หลังจากหายไปแล้วอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก สาเหตุไม่แน่ชัด อาจมาจากไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็ง โรคไวรัสตับอักเสบ การติดเชื้อ เป็นต้น ลมพิษแบบเรื้อรังสามารถกระทบต่อการทำงานอวัยวะในร่างกาย เช่น ปอด ระบบทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ

    สาเหตุของลมพิษ

    ลมพิษอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่อไปนี้

    • สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ละอองเกสร สปอร์ของเชื้อรา สะเก็ดรังแคจากขนสัตว์เลี้ยง
    • อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากสภาพอากาศหรือกิจกรรมที่ทำ
    • พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
    • ติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
    • สัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น ผงซักฟอก ยางสังเคราะห์ เครื่องสำอาง
    • แพ้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้ไอ ยาแก้อักเสบ
    • แพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ไข่ไก่ ปลา หอย กุ้ง มะเขือเทศ นม ช็อกโกแลต
    • ถูกแมลงกัดต่อย เช่น ต่อ แตน ผึ้ง

    ลมพิษ รักษา ด้วยวิธีไหนได้บ้าง

    โดยทั่วไป การดูแลรักษาในเบื้องต้นด้วยตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้ อาจช่วยให้ลมพิษหายเองได้

    • อาบน้ำเย็นเพื่อลดอาการคันบริเวณผิวหนัง หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรืออาบน้ำอุ่นบ่อยและนานเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวแห้ง และคันกว่าเดิม อาจผสมน้ำกับเบกกิ้งโซดาที่มีส่วนช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดและด่างของผิวหนัง และบรรเทาอาการคันได้
    • สวมใส่เสื้อผ้าทรงหลวม ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าคับ รัดแน่น เพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณที่เป็นลมพิษถูกเสียดสีจนระคายเคือง และทำให้อาการแย่ลง
    • ประคบเย็นในบริเวณที่เกิดลมพิษด้วยผ้าสะอาดห่อน้ำแข็ง ประมาณครั้งละ 10-20 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง อาจช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้ผื่นลมพิษหายเร็วขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นอาการแพ้จนทำให้เกิดลมพิษ
    • ทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 30 ขึ้นไป ก่อนออกไปข้างนอกอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมงหากแดดจัด พยายามอยู่ในที่ร่ม เพื่อลดอาการระคายเคืองที่เกิดเมื่อผิวโดนแสงแดด
    • ทาโลชั่นแก้คันที่มีส่วนผสมของเมนทอล (Menthol) โดยควรปฏิบัติตามเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด

    หากลองรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ทุเลา ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอ โดยวิธีทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาลมพิษได้ อาจมีดังนี้

    • ยาแก้แพ้ (Anti-itch drugs) เช่น วิเซทิริซีน (Cetirizine) ลอราทาดีน (Loratadine) เป็นกลุ่มยาต้านฮิสทามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารเคมีในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผื่นคัน
    • ยาต้านอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ที่ช่วยลดรอยแดงและบวมของผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีลมพิษระดับรุนแรง
    • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ใช้กดภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ให้ทำงานมากเกินไป ช่วยลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น
    • การรักษาด้วยแสง (Light therapy) เป็นวิธีรักษาบริเวณภายนอกร่างกาย ด้วยการส่องไฟที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นลมพิษ มักใช้เป็นวิธีรักษาเมื่อใช้กับยาแก้แพ้ไม่ได้ผล

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    • เมื่อลมพิษลุกลามขยายใหญ่มากขึ้น
    • เมื่ออาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์
    • ปากและตาบวม
    • ผิวหนังบวมจนทำให้หายใจลำบาก
    • เกิดอาการคันอย่างรุนแรง
    • เกิดลมพิษซ้ำ ๆ เป็นเวลาหลายเดือน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา