เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของเราก็จะค่อย ๆ เสื่อมสมรรถภาพ นั่นทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น เช่น ภาวะกระดูกพรุน อาการนอนไม่หลับ อาการสับสน การสูญเสียความทรงจำ ปัญหาการได้ยิน ปัญหาการมองเห็น ความผิดปกติในการรับประทานอาหาร และอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุก็คือ การหกล้มนั่นเอง การหกล้มในผู้สูงอายุ ถือเป็นภาวะอันตรายมาก เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ แต่คุณก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณเองก็สามารถดูแลสมาชิกสูงวัยในครอบครัวให้ปลอดภัยจากการหกล้มได้ไม่ยาก
สาเหตุที่ผู้สูงอายุเสี่ยงหกล้มง่ายกว่าคนวัยอื่น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหกล้มในผู้สูงอายุบ่อยกว่าคนวัยอื่น ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพที่เกิดขึ้นตามวัยนั่นเอง ปัญหาสุขภาพตามวัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการมองเห็น ปัญหาการได้ยิน ปัญหากระดูก กล้ามเนื้อและข้อ เช่น กระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม รวมถึงการขาดสารอาหาร เช่น การขาดวิตามินดี ล้วนส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงและความสามารถในการทรงตัวของผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่ายขึ้นทั้งสิ้น
อีกทั้งยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาที่ช่วยในการนอนหลับ ยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจ ก็อาจทำให้ความสามารถในการทรงตัวของผู้สูงอายุลดลง จนหกล้มได้ง่ายเช่นกัน ยิ่งหากผู้สูงอายุคนไหนรับประทานยามากกว่า 4 ชนิดขึ้นไป หรือเพิ่งเปลี่ยนยาได้ไม่เกิน 2 อาทิตย์ ก็จะยิ่งเสี่ยงหกล้มสูงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ รองเท้าที่ผู้สูงอายุสวมใส่ เช่น รองเท้าหลวมไป รองเท้าคับไป หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เช่น ไฟที่สว่างไม่พอ พรมที่ปูไม่แนบสนิทกับพื้น พื้นกระเบื้องที่ลื่นเกินไป ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะหกล้มในผู้สูงอายุได้มากขึ้นเช่นกัน
ผลกระทบที่ตามมาเมื่อหกล้ม
การหกล้มในผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือผลกระทบเหล่านี้ได้
- เกิดภาวะกระดูกหัก เช่น ข้อมือหัก ข้อเท้าหัก แขนหัก สะโพกหัก
- ศีรษะได้รับบาดเจ็บ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากผู้สูงอายุหกล้มและศีรษะกระแทก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที จะได้ตรวจให้แน่ใจว่าสมองไม่กระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บ
- ต่อให้ผู้สูงอายุหกล้มแล้วไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ ก็อาจกลายเป็นคนหวาดระแวงหรือกลัวการหกล้มได้ ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้มากเลยทีเดียว เพราะเมื่อกลัวหกล้ม ผู้สูงอายุก็จะไม่อยากขยับเขยื้อนร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเฉื่อยชา ไม่ได้ออกกำลังกายเท่าที่ควร จนสุดท้ายก็อ่อนแอกว่าเดิมและมีโอกาสหกล้มสูงขึ้นไปอีก
จากสถิติของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซี (CDC) พบว่า การหกล้มส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บใด ๆ แต่ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มก็เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น กระดูกหัก ศีรษะบาดเจ็บ ส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น
หากผู้สูงอายุหกล้ม ควรทำอย่างไร
สำหรับผู้สูงอายุที่หกล้ม ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ หรือหากมีลูกหลานอยู่ใกล้ ๆ คุณก็สามารถดูแลผู้สูงอายุที่หกล้มด้วยวิธีเหล่านี้ได้เช่นกัน
หากหกล้ม แต่ยังสามารถลุกขึ้นได้
- พยายามตั้งสติ อย่ารีบลุกขึ้นทันที
- หากแน่ใจว่าไม่ได้บาดเจ็บร้ายแรง และพร้อมจะลุกขึ้นแล้ว ให้มองหาเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรง วางอยู่บนพื้นอย่างมั่นคง ไม่โยกเยกง่าย เช่น เก้าอี้ เตียง โซฟา
- ค่อย ๆ คลานไปยังเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงพอจะช่วยพยุงตัวคุณได้ และหากเป็นไปได้ ควรหาอะไรรองเข่าไว้ด้วย
- ใช้สองมือจับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นเอาไว้ให้แน่น จากนั้นค่อย ๆ พยุงตัวลุกขึ้น โดยการงอเข่าข้างหนึ่ง ส่วนเท้าอีกข้างเหยียบพื้นให้มั่นคง
- เมื่อรู้สึกพร้อมแล้ว ให้ลุกขึ้นนั่งช้า ๆ แล้วนั่งพักจนกว่าจะพร้อมทำกิจวัตรอื่น ๆ ต่อไป
หากหกล้ม และไม่สามารถลุกขึ้นได้เอง
- ตะโกนขอความช่วยเหลือ หรือกดปุ่มเรียกฉุกเฉิน (หากมี) หรือหากยังพอจะเคลื่อนไหวได้ ให้กดเบอร์โทรติดต่อฉุกเฉิน
- ขณะที่รอการช่วยเหลือ ให้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปอยู่ในท่าที่สบายที่สุด และควรเปลี่ยนท่าอย่างน้อยทุก ๆ 30 นาที เพื่อป้องกันการกดทับในบริเวณที่อาจบาดเจ็บ
วิธีป้องกัน การหกล้มในผู้สูงอายุ
ทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานสามารถช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้ ด้วยการให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น ไทชิหรือไทเก๊ก การบริหารร่างกายในน้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความสามารถในการทรงตัว โดยไม่ส่งผลเสียต่อข้อต่อ
- ตรวจสุขภาพตาบ่อย ๆ ผู้สูงอายุควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีปัญหาสายตาจะได้แก้ไขได้ทัน และหากแพทย์แนะนำว่าควรสวมแว่นสายตา ก็ควรปฏิบัติตามด้วย
- ทำบ้านให้ปลอดภัยขึ้น เช่น
- ติดตั้งที่จับหรืออุปกรณ์กันลื่นในที่ที่เสี่ยงหกล้มได้ง่าย เช่น ในห้องน้ำ
- ควรมีราวบันไดทั้งสองด้าน
- หากจุดไหนที่หลอดไฟเสีย หรือมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็ควรติดตั้งหลอดไฟใหม่ แสงจะได้ส่องสว่างทั่วถึงทั้งบ้าน
- ตรวจสภาพเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเป็นประจำ หากพบว่าชิ้นไหนชำรุด ควรซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที
- ปรึกษาแพทย์
- เพื่อขอคำแนะนำในการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุที่ได้ผลดีที่สุด
- หากมียาตัวไหนทำให้ง่วงหรือรู้สึกวิงเวียน ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจต้องเปลี่ยนยา
- สวมรองเท้าให้พอดีเท้า อย่าสวมรองเท้าที่หลวมหรือคับเกินไป หรือหากรองเท้าชำรุด พื้นสึกแล้ว ก็ควรเปลี่ยนคู่ใหม่
- ใช้ไม้เท้า ช่วยพยุงร่างกาย จะได้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น และลดความเสี่ยงในการหกล้ม
[embed-health-tool-bmi]