คนเราต่างก็มีท่านอนโปรด บางคนชอบนอนหงาย บางคนชอบนอนคว่ำ หากไม่ได้นอนท่าโปรด ก็เล่นเอาบางคนถึงกับนอนไม่หลับเลยทีเดียว ท่านอนแต่ละท่าก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ท่านอนที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพมากที่สุดก็คือ นอนหงาย เพราะช่วยให้ศีรษะ คอ และกระดูกสันหลังอยู่ในระนาบตามธรรมชาติ ลดแรงกดทับ และอาการปวดเมื่อย แถมช่วยไม่ให้ใบหน้าเหี่ยวย่น หรือมีริ้วรอยก่อนวัยได้ด้วย แม้จะเป็นท่านอนสารพัดประโยชน์ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเคยชินกับการนอนหงาย วันนี้ Helloคุณหมอ เลยมีเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณนอนหงายได้ง่ายขึ้น แถมหลับสบายมาฝาก หากทำได้ รับรองเลยว่า ดีต่อสุขภาพแน่นอน
นอนหงาย แล้วดีอย่างไร
- ช่วยไม่ให้กระดูกสันหลังคด
- ลดอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง
- ลดแรงกดทับ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรัง
- ช่วยป้องกันกรดไหลย้อน
- ป้องกันไม่ให้เกิดริ้วรอยและรอยย่นบนใบหน้า
เคล็ดลับที่ช่วยให้นอนหงายได้ตลอดคืน
-
ที่นอนต้องรองรับแผ่นหลังได้ดี
บางคนอาจชอบนอนบนพื้นแข็งๆ หรือปูฟูกบางๆ ในขณะที่บางคนก็ชอบทิ้งตัวลงนอนบนที่นอนนุ่มๆ หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่าที่นอนดูดวิญญาณ แต่ความจริงที่นอนแข็งหรือนุ่มเกินไปอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก หากคุณอยากนอนหงายได้สบาย ตื่นมาแล้วไม่ปวดหลัง ควรเลือกที่นอนที่รองรับน้ำหนักได้ทั่วตัว แผ่นหลังและกระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงตามระนาบธรรมชาติ ไม่สร้างแรงกดทับที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หากคุณต้องนอนร่วมเตียงกับผู้อื่น ควรเลือกขนาดที่นอนให้พอดี เหลือพื้นที่ให้ขยับตัวได้ ไม่ต้องนอนเบียดกัน และควรเปลี่ยนที่นอนใหม่ทุกๆ 8 ปี
-
เลือกหมอนที่ใช่ นอนหงายสบายกว่าเดิม
หมอนที่ดีต่อสุขภาพต้องรองรับศีรษะ และความโค้งของคอจนถึงช่วงหัวไหล่ได้อย่างพอดี ไม่มีช่องว่างระหว่างหมอนและคอ ความสูงของหมอนต้องพอเหมาะ ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป จนทำให้ปวดคอ เมื่อหนุนแล้วต้องทำให้หลอดลมอยู่สูงกว่าช่วงท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารหรือกรดไหลย้อนขึ้นมาจากทางเดินอาหาร
-
ใช้หมอนรองใต้เข่าหรือแผ่นหลังช่วงล่าง
หากคุณยังไม่สามารถเปลี่ยนที่นอนใหม่ที่รองรับกระดูกสันหลังและแผ่นหลังได้ อาจใช้หมอนหรือม้วนผ้าขนหนูสอดไว้ใต้เข่าหรือแผ่นหลังช่วงล่าง เพื่อให้รับกับรูปโค้งของกระดูกสันหลัง ลดแรงกด ช่วยไม่ให้ปวดหลัง แถมยังช่วยกันไม่ให้คุณนอนกลิ้งหรือพลิกตัวไปมาเพราะปวดเมื่อยได้ด้วย
-
นอนกางแขนขาให้เต็มที่
การนอนหงายไม่ได้หมายความว่าคุณต้องนอนแขนแนบลำตัว ขาชิดกันตลอดเวลา เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงเกร็ง และปวดเมื่อยได้ หากอยากนอนหงายแบบสบายๆ ลองนอนเหยียดแขนเหยียดขา กางออกให้เต็มที่ เพราะนอกจากจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยไม่ให้ข้อต่อของคุณถูกกดทับหรือต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไปด้วย
-
ฝึกนอนหงายให้ชิน
สำหรับคนที่เคยชินกับการนอนท่าอื่น อาจต้องใช้เวลาฝึกสักนิดกว่าจะนอนหงายได้เป็นปกติ หากคุณรู้สึกตัวว่าเผลอพลิกตัวนอนท่าอื่น ให้รีบกลับมานอนหงายทันที สิ่งสำคัญก็คือ อย่าย่อท้อ ควรฝึกนอนหงายอย่างถูกต้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชินเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าเดิม
หากอยากนอนหงายให้ได้สุขภาพ สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้ก็คือ ท่านอนหงายอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เช่น คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) หรือนอนกรนควรนอนตะแคง ไม่ควรนอนหงายเพราะอาจทำให้ลิ้นไปอุดกั้นหลอดลมจนยิ่งหายใจลำบาก หรือนอนกรนหนักกว่าเดิม
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]