ติ๊ดติ๊ด ติ๊ดติ๊ด เสียงนาฬิกาปลุกดังทำให้ตื่น แต่ยังไม่ทันได้ลืมตา ก็ต้องกวาดมือไปมาควานหานาฬิกาปลุก พอคว้าได้ก็กดปุ่ม เลื่อนนาฬิกาปลุก ทันที 5 นาที 10 นาทีก็เอา ขอแค่ได้นอนต่อซักนิด!!! แต่การนอนต่อแค่ไม่กี่นาทีนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้ตื่นนอนอย่างสดใสแล้ว ยังไม่ดีต่อสุขภาพของเราเลยซักนิด
เลื่อนนาฬิกาปลุก กับรอบการนอนหลับ
นายแพทย์โรเบิร์ต เอส. โรเซนเบิร์ก ผู้อำนวยการสถาบัน Sleep Disorders Centers ในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การเลื่อนนาฬิกาปลุกส่งผลเสียต่อร่างกาย อย่างแรกเลยคือช่วงเวลาอันน้อยนิด 5 นาที 10 นาทีที่เราคิดว่าได้นอนต่อนั้น เป็นการนอนที่ไม่มีคุณภาพ แล้วอีกอย่างก็คือ การเลื่อนนาฬิกาปลุกทำให้เราเริ่มต้นรอบการนอนหลับ (Cycles of sleep) รอบใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ครบรอบเราก็ต้องตื่นเสียแล้ว การตื่นขึ้นมากลางคันนั่นแหละที่ทำให้เรารู้สึกไม่โอเคทั้งวัน
รอบการนอนหลับคืออะไร
รอบการนอนหลับจะประกอบด้วยภาวะ Non-REM sleep ประมาณ 5-15 นาที และต่อด้วย REM sleep ประมาณ 90 นาที โดย Non-REM sleep จะมี 3 ช่วงคือ
- ช่วงที่ 1 คือช่วงเข้านอน ซึ่งเราจะถูกปลุกได้ง่ายเพราะยังไม่หลับ
- ช่วงที่ 2 คือช่วง light sleep เป็นช่วงที่กำลังเคลิ้มหลับ
- ช่วงที่ 3 คือช่วงหลับลึก
จากนั้นจะเข้าสู่ช่วย REM sleep ที่ย่อมาจาก Rapid Eye Movement sleep ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดวงตาของเราเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว คนเราจะฝันในช่วงนี้ ใช้เวลาประมาณ 90 นาทีก็จะจบช่วง REM sleep และเริ่ม Non-REM sleep อีกครั้งเป็นแบบนี้วนไปทั้งคืน
การเลื่อนนาฬิกาปลุกส่งผลอะไร
การเลื่อนนาฬิกาปลุกเพื่อให้ได้นอนต่อในเวลาอันน้อยนิดจึงส่งผลต่อรอบการนอนหลับ เมื่อเรากดปุ่มเลื่อนนาฬิกาปลุก เราจะเริ่มรอบการนอนหลับด้วยภาวะ Non-REM sleep ซึ่งเกิดขึ้นในเวลา 5-15 นาที บางคนกำลังเข้าสู้ช่วงหลับลึก และกำลังจะไปต่อที่ REM Sleep แต่ก็ ติ๊ดติ๊ด ติ๊ดติ๊ด เสียงนาฬิกาปลุกทำให้ตื่นกลางคัน
การตื่นในช่วงหลับลึกนี่แหละที่ทำให้เราตื่นมาแล้วรู้สึกไม่โอเค เช่น ตื่นมาแล้วรู้สึกเหนื่อย เพลีย มีอาการหงุดหงิดตลอดทั้งวัน รู้สึกว่านอนไม่พอ นอกจากนี้การตื่นนอนในช่วงหลับลึก หรือในช่วง REM Sleep ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนเกิดอาการผีอำ (Sleep Paralysis) หรืออาการที่ขยับตัวไม่ได้ทั้งๆ ที่ตื่นนอนแล้ว และยังอาจส่งผลต่อการนอนไม่หลับในตอนกลางคืนอีกด้วย
แค่การเลื่อนนาฬิกาปลุกเพียงไม่กี่นาทีก็ส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ ดังนั้นใครที่ไม่อยากเลื่อนนาฬิกาปลุกในตอนเช้าอาจลองวิธีนี้
เลิกนิสัยเลื่อนนาฬิกาปลุกด้วยวิธีนี้
- ตื่นตั้งแต่การปลุกครั้งแรก ถ้าได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกปุ๊บ ให้ตื่นปั๊บ อย่ากดเลื่อนนาฬิกาปลุกเด็ดขาด ช่วงแรกๆ อาจทำได้ยากแต่ครั้งต่อๆ ไปก็จะง่ายขึ้นเอง
- หมุนข้อเท้า ยืดเหยียดฝ่าเท้า ช่วยได้ หากไม่สามารถลุกขึ้นมาได้จริงๆ ก่อนที่จะคว้านาฬิกาปลุกมากดปุ่ม Snooze ให้ลองหมุดข้อเท้าตัวเองดูก่อน เพราะการยืดเหยียดฝ่าเท้า การหมุนข้อเท้าในตอนตื่นนอนจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ซึ่งช่วยให้เราตื่นนอนได้ง่ายขึ้น
- ตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน วิธีนี้เวิร์คสุด ช่วงแรกๆ อาจต้องตั้งนาฬิกาปลุก เช่นตั้งนาฬิกาไว้ว่าจะตื่นเวลา 5.30 น. ทุกวัน และพอตี 5 ครึ่ง เสียงนาฬิกาปลุกดังเราก็ลุกขึ้น ไม่นอนต่อ หากเราตื่นนอนเวลาเดิมทุกวันต่อไปก็จะสามารถตื่นนอนเองได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งนาฬิกาปลุกอีกแล้ว
การเลื่อนนาฬิกาปลุกเพียงไม่กี่นาที ไม่ได้ช่วยทำให้เราสดชื่นขึ้น หรือทำให้หายง่วงได้เลย ถ้าอย่างนั้นก็ตื่นนอนไปเลยดีกว่า ไม่ต้องเลื่อนนาฬิกาปลุกซ้ำไปซ้ำมาอีกต่อไปแล้ว
Hello Health Groupไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]