backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

คอแห้ง สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

คอแห้ง สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

คอแห้ง ระคายคอ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อากาศแห้ง การติดเชื้อทางเดินหายใจ ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการระคายคอ กลืนลำบาก และกระหายน้ำบ่อย ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ควรรู้วิธีการรักษาและวิธีป้องกันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง ไม่ให้รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

คำจำกัดความ

คอแห้งคืออะไร

คอแห้ง  เป็นอาการที่พบบ่อยโดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นและอากาศแห้ง หรือเมื่อร่างกายขาดน้ำ โดยส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ  

อาการ

อาการคอแห้ง

อาการคอแห้งอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยหรือภาวะขาดน้ำ และอาจมาพร้อมอาการ ต่อไปนี้

  • รู้สึกระคายเคืองคอ
  • กระหายน้ำบ่อย
  • กลืนน้ำลายลำบาก มีเสมหะ
  • ไอ จาม
  • เจ็บคอ แสบคอ

สาเหตุ

คอแห้ง เกิดจาก อะไร

คอแห้งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บคอ และคอแห้ง นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย
  • คออักเสบ เป็นอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อในลำคอ มักเกิดจากแบคทีเรีย เสตร็ปโตคอสคัส (Streptococcus pyogenes) ทำให้เกิดอาการคอแห้ง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อร่างกาย และต่อมน้ำเหลืองบวมที่คอ
  • การขาดน้ำ เมื่อร่างกายขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการคอแห้งได้ และอาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม กระหายน้ำมาก อ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ
  • การนอนอ้าปาก หากนอนอ้าปากค้างขณะหลับ และหายใจทางปากร่วมด้วย อาจทำให้น้ำลายภายในปากแห้ง และทำให้เกิดอาการคอแห้งได้
  • ไข้ละอองฟางและอาการแพ้ สภาพแวดล้อมหรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ หญ้า อาหารบางชนิด อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรง และปล่อยสารเคมี ฮีสตามีน (Histamine) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาการไอ คอแห้ง คัดจมูก น้ำมูกไหล คันผิวหนัง ปาก และตา
  • กรดไหลย้อน กรดจากกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนในท่ออาหารอาจทำให้เกิดอาการแสบคอ คอแห้ง ไอแห้ง เสียแหบ และเรอ
  • ต่อมทอมซิลอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการอักเสบนี้อาจทำให้เกิดอาการคอแห้ง เสียงแหบ กลิ่นปาก ปวดหัว ต่อมทอมซิลบวมแดง และมีไข้
  • โมโนนิวคลีโอสิส (Mononucleosis) เป็นโรคที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus) แพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย โดยอาจทำให้เกิดอาการคอแห้ง ต่อมทอมซิลบวม ต่อมน้ำเหลืองโตที่คอและรักแร้ มีไข้ ปวดหัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเหงื่อออกตอนกลางคืน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงคอแห้ง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการคอแห้ง มีดังนี้

  • ดื่มน้ำน้อย หรือมีภาวะขาดน้ำ
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • น้ำลายในปากแห้ง
  • การติดเชื้อทำให้คออักเสบ
  • กรดในกระเพาะอาหารที่สร้างความระคายเคือง
  • การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยคอแห้ง

    คุณหมออาจซักประวัติถามอาการโดยรวม และวินิจฉัยสาเหตุของอาการคอแห้ง หากสงสัยว่าผู้ป่วยคอแห้งจากคออักเสบร้ายแรง ก็อาจทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในลำคอไปเพาะเชื้อ เพื่อหาต้นเหตุของคออักเสบและรักษาในขั้นตอนต่อไป

    การรักษาคอแห้ง

    การรักษาอาการคอแห้งจะมุ่งเน้นไปที่การลดอาการระคายคอ ให้ความชุ่มชื้น และลดอาการอักเสบ นอกจากนี้ ยังอาจต้องทำการรักษาสภาวะที่เป็นต้นเหตุของอาการคอแห้ง โดยใช้ยาเหล่านี้

    • ยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก
    • คอร์ติโคสเตียรอยด์พ่นจมูก ยาหยอดจมูก เพื่อลดอาการคัดจมูก
    • ยาเม็ดแก้ไอ  และยาแก้หวัด เพื่อช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ
    • ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรืออะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวด
    • ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ยาลดกรด ช่วยปรับกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลาง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยจัดการคอแห้ง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน และลดอาการคอแห้งสามารถทำได้ ดังนี้

    • ดื่มน้ำให้เพียงต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น และไม่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
    • ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
    • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย
    • กลั้วคอด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคอแห้งและเจ็บคอ
    • ใช้เครื่องทำความชื้น เพราะอากาศชื้นอาจช่วยลดอาการคัดจมูกและเจ็บคอได้
    • ประคบร้อนบริเวณหน้าผากและจมูก เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดไซนัส

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา