backup og meta

โรคคอพอก เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

โรคคอพอก เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

โรคคอพอก (Goiter) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์บวมกว่าปกติ โดยมีสาเหตุมาจากร่างกายขาดไอโอดีน รวมถึงโรคบางอย่างและการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ โรคคอพอกสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาและการผ่าตัด

[embed-health-tool-bmr]

โรคคอพอกคืออะไร

โรคคอพอกเป็นการบวมของต่อมไทรอยด์ หรือต่อมไร้ท่อบริเวณลำคอ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานจากอาหาร ให้สอดคล้องกับระดับพลังงานที่ร่างกายต้องการ

โดยทั่วไป โรคคอพอกมักสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) และภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)

โรคคอพอก มีอาการอย่างไร

เมื่อเป็นโรคคอพอก ต่อมไทรอยด์จะมีอาการบวมจนเห็นได้ชัด หรืออาจบวมจากเดิมเล็กน้อยจนยากที่จะสังเกตเห็น

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ของโรคคอพอกมีทั้งอาการที่พบบ่อยและอาการที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่

อาการที่พบบ่อย มีดังนี้

  • รู้สึกแน่นในลำคอ
  • เสียงแหบ
  • หลอดเลือดบริเวณลำคอบวม
  • วิงเวียน เมื่อยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ

อาการที่พบได้ไม่บ่อย

  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • ไอ
  • กลืนอาหารได้ลำบาก

หากมีภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมด้วย จะมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

ภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป มีอาการดังนี้

  • น้ำหนักลด
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกมาก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • นอนหลับยาก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ความดันโลหิตสูง
  • หิวบ่อย

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ มีอาการดังนี้

  • อ่อนเพลีย
  • ง่วงนอนมากกว่าปกติ
  • ผิวแห้ง
  • ท้องผูก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำหรือไม่มีสมาธิ

โรคคอพอก เกิดจากสาเหตุอะไร

โรคคอพอกเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ร่างกายขาดไอโอดีน (Iodine) ไอโอดีนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ เมื่อได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ ต่อมใต้สมองจะกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่กว่าเดิม
  • โรคฮาชิโมโตะ (Hashimoto’s Disease) เป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ซึ่งเมื่อเป็นแล้วต่อมไทรอยด์จะเสียหาย  อักเสบ และผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง จนต่อมใต้สมองต้องกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักกว่าเดิมและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
  • โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) เป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ซึ่งกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ หรือมีภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
  • การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งร่างกายหลั่งออกมาเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตและการตกไข่ของผู้หญิง สามารถทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักขึ้น หรือบวมขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยได้
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ เนื่องจากโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง การติดเชื้อ หรือการใช้ยาบางชนิด ทำให้ต่อมไทรอยด์บวม และมีภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ได้
  • มะเร็งไทรอยด์ เป็นความผิดปกติของไทรอยด์ที่พบได้ไม่บ่อยนัก หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของเนื้องอกทั้งหมดที่พบบริเวณไทรอยด์ มะเร็งไทรอยด์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติถูกฉายรังสีขณะเป็นทารกหรือเป็นเด็ก รวมถึงผู้ที่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

โรคคอพอกรักษาได้อย่างไร

วิธีการรักษาโรคคอพอกนั้นขึ้นอยู่กับอาการบวมของต่อมไทรอยด์ หากต่อมไทรอยด์บวมไม่มาก คุณหมอจะแนะนำให้รอดูอาการหรือปล่อยให้โรคคอพอกค่อย ๆ หายเอง แต่หากต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ หรือส่งผลต่อการดำเนินชีวิต คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • เพิ่มการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ในกรณีที่พบอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ด้วยการให้ยาลีโวไทร็อกซีน (Levothyroxine)
  • ลดการผลิตฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่มากเกินไป หากมีภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โดยคุณหมอจะจ่ายยาอย่างเมไทมาโซล (Methimazole) อะทีโนลอล (Atenolol) หรือเมโทโพรลอล (Metoprolol) ให้คนไข้รับประทาน
  • ให้สารไอโอดีนที่เป็นกัมมันตรังสี (Radioactive Iodine Therapy) ในรูปแบบน้ำหรือแคปซูล เป็นการรักษาภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไปรวมถึงมะเร็งไทรอยด์ โดยสารไอโอดีนจะออกฤทธิ์กำจัดเซลล์ร้ายของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ที่บวมอยู่มีขนาดเล็กลง
  • ผ่าตัด เป็นการนำต่อมไทรอยด์บางส่วนหรือทั้งหมดออกจากร่างกาย คุณหมออาจเลือกรักษาด้วยวิธีนี้หากพบก้อนบวมบริเวณต่อมไทรอยด์ หรือเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ หรือเมื่อต่อมไทรอยด์บวมจนผู้ป่วยหายใจหรือกลืนอาหารได้ลำบาก ทั้งนี้ หลังผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดชีวิต

โรคคอพอก ป้องกันได้อย่างไร

โรคคอพอกเกิดจากหลายสาเหตุ แต่อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนเพื่อให้ร่างกายได้รับไอโอดีนที่จำเป็นต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์เพียงพอ เช่น อาหารทะเล สาหร่าย ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม ทั้งนี้ ร่างกายควรได้รับปริมาณไอโอดีน 140 ไมโครกรัมต่อวัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Goiter. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/goiter/symptoms-causes/syc-20351829. Accessed November 30, 2022

Goiter. https://www.thyroid.org/goiter/. Accessed November 30, 2022

Goiter. https://www.webmd.com/women/understanding-goiter-basics. Accessed November 30, 2022

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=452. Accessed November 30, 2022

ถ้าเราทานยา ลีโวไทร็อกซีนโซเดียม แผงสีฟ้า 100 mcg (ยาฮอร์โมนไทรอยด์) เป็นเวลานาน เช่น ตลอดชีวิตจะมีผลข้างเคียงไหมคะ เกี่ยวกับระบบอวัยวะในร่างกายคะ. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=7690#:~:text=%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%20(levothyroxine%20sodium,%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87. Accessed November 30, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไทรอยด์ และโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับไทรอยด์

โรคคอพอกตาโปน โรคตาที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา