กระดูกบาง เป็นอาการที่กระดูกสูญเสียความหนาแน่น ทำให้กระดูกบาง เปราะง่าย อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น และเป็นสัญญาณสัญญาณที่บอกว่ากระดูกของคุณกำลังอ่อนแอ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่า เช่น โรคกระดูกพรุนได้
คำจำกัดความ
โรคกระดูกบาง คืออะไร
กระดูกบาง (Osteopenia) เป็นอาการทางพยาธิวิทยาของกระดูกที่สูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นสัญญาณว่ากระดูกกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากคุณเป็นโรคกระดูกบาง ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะต่ำกว่าปกติ โดยความหนาแน่นของมวลกระดูกของมนุษย์จะอยู่ในระดับสูงสุดในช่วงอายุประมาณ 35 ปี
ส่วนใหญ่แล้ว โรคกระดูกบางมักจะพัฒนาไปเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
โรคกระดูกบางพบได้บ่อยแค่ไหน
โรคกระดูกบางพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือที่เรียกว่าวัยทอง มักไม่พบในคนวัยหนุ่มสาว ยกเว้นในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง
อาการ
อาการของโรคกระดูกบางคืออะไร
ความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ลดลงนั้น ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกบางจึงมักไม่แสดงอาการใดๆ และอาจรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อกระดูกหัก ซึ่งส่วนใหญ่แม้ผู้ป่วยโรคกระดูกบางจะเกิดปัญหากระดูกหัก ก็มักไม่รู้สึกเจ็บปวดเช่นกัน
หากมีข้อสงสัยใดๆ หรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรคกระดูกบางเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของโรค กระดูกบาง
เมื่อคนเราอายุมากขึ้นกระดูกย่อมบางลงตามธรรมชาติ โดยกระบวนการนี้มักจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยกลางคน ซึ่งเซลล์สลายตัวรวดเร็วขึ้น และสร้างเซลล์ใหม่ช้าลง กระดูกเปราะบางมากขึ้น ทำให้กระดูกของเราเริ่มสูญเสียแร่ธาตุ มวลกระดูก และโครงสร้าง จนกระดูกเริ่มอ่อนแอลงและเสี่ยงแตกหักได้ง่ายกว่าเดิม
นอกจากนี้ การรักษาโรค หรือภาวะโรคบางประการก็สามารถทำให้เกิดโรคกระดูกบางได้เช่นกัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกบาง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกบาง เช่น
- เป็นเพศหญิง โดยผู้หญิงเอเชียและคอเคเชียนที่มีโครงสร้างกระดูกค่อนข้างเล็ก จะมีความเสี่ยงมากที่สุด
- ประวัติของครอบครัวที่มีค่าความหนาแน่นของกระดูกต่ำ
- อายุมากกว่า 50 ปี
- หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
- ผ่าตัดรังไข่ออกก่อนที่จะหมดประจำเดือน
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- กินอาหารที่ไม่ดี ทำให้ขาดสารอาหารสำคัญ เช่น แคลเซียม วิตามินดี
- สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
- บริโภคแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
- ทานยาเพรดนิโซน (prednisone) หรือฟีนีโทอิน (phenytoin)
นอกจากนี้ ภาวะหรือโรคบางชนิด ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกบางได้ เช่น
- โรคอะนอเร็กเซีย
- โรคบูลิเมีย
- โรคเนื้องอกในต่อมใต้สมอง
- โรคหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ผิดปกติ
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
วิธีการวินิจฉัยโรคกระดูกบาง
โรคกระดูกบางสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการวัดค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mineral density หรือ BMD) ซึ่งวิธีการตรวจวัดค่าความหนาแน่นของกระดูกที่สมาคมโรคกระดูกบางแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาแนะนำ ได้แก่ การตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจ DXA Scan ซึ่งตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยใช้รังสีเอ็กซ์พลังงานต่ำ ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจได้รับปริมาณรังสีน้อย และแม่นยำสูง โดยเครื่องนี้จะวัดค่าความหนาแน่นของกระดูกในสะโพก สันหลัง และบางครั้งอาจวัดค่าที่รอบเอว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสในการเกิดรอยร้าวของกระดูกได้บ่อยที่สุด
โดยหน่วยวัดความหนาแน่น 2 แบบคือ
- T score เป็นหน่วยวัดระดับความหนาแน่นของมวลกระดูก โดยเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในวัย 30 ปี
- Z score เป็นหน่วยวัดระดับความหนาแน่นมวลกระดูก โดยเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติเดียวกัน เพศเดียวกัน และวัยเดียวกัน
โดยคะแนนที่ได้จะบอกถึงค่าความเบี่ยงเบนตามมาตรฐานว่าสูงกว่าปกติหรือต่ำกว่าปกติ
นอกจากการการตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจ DXA Scan แล้ว ยังมีวิธีตรวจวัดค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น
- การสแกนบริเวณแขนขาโดยใช้รังสีเอ็กซ์พลังงานต่ำ (pDXA)
- การสแกนด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (QCT)
- การสแกนบริเวณแขนขาเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (pQCT)
- การสแกนด้วยคลื่นอัลตร้าซาวนด์ (QUS)
วิธีรักษาโรคกระดูกบาง
เป้าหมายของการรักษาก็คือ เพื่อยับยั้งไม่ให้โรคกระดูกบางพัฒนาไปสู่โรคกระดูกพรุน
โดยการรักษาเบื้องต้น จะมุ่งเน้นที่อาหารการกินและการออกกำลังกาย เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักขณะเป็นโรคกระดูกบางยังค่อนข้างต่ำ ปกติคุณหมอจึงไม่ค่อยสั่งยาใดๆ ให้ เว้นเสียแต่ว่าอาการโรคกระดูกบางของคุณอยู่ในขั้นที่ใกล้จะเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว โดยคุณหมออาจแนะนำให้คุณกินอาหารเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดี แต่จะดีกว่าหากคุณสามารถเสริมแร่ธาตุหรือวิตามินดังกล่าวได้ด้วยการกินอาหารปกติ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยรับมือกับโรคกระดูกบาง
อาหารสำหรับผู้เป็นโรคกระดูกบาง
เพื่อให้ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ ควรรับประทานผลิตภัณฑ์นม เช่น ชีส นม โยเกิร์ต ชนิดไร้ไขมันหรือไขมันต่ำ รับประทานขนมปัง น้ำส้ม หรือซีเรียลที่มีการเสริมแคลเซียมและวิตามินดี รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่เป็นแหล่งของแคลเซียม เช่น
- ถั่วแห้ง
- บร็อคโคลี่
- ปลาแซลมอน
- ผักโขม
เป้าหมายในการบริโภคแคลเซียมของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน คือ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และวิตามินดี 800 IU
อย่างไรก็ตาม ยังไมมีข้อมูลที่แน่ชัดว่า ผู้ที่เป็นโรคกระดูกบางว่า ต้องบริโภคแคลเซียมในปริมาณเท่ากันหรือไม่ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
การออกกำลังกายสำหรับโรคกระดูกบาง
การออกกำลังกายที่มีการแบกน้ำหนักตัว หรือการออกกำลังกายในขณะที่ยืนอยู่กับพื้น เช่น การเดิน กระโดด หรือการวิ่ง อย่างน้อย 30 นาที สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของกระดูกให้คุณได้ โดยอาจทำควบคู่ไปกับการว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยานที่ช่วยเรื่องบริหารหัวใจและสร้างกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม ก่อนออกกำลังกายผู้ป่วยโรคกระดูกบางควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคุณที่สุด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด