เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะสัมผัสกับกระเพาะอาหารและหลอดอาหารโดยตรง ทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้หูรูดหลอดอาหารเปิดออก เพิ่มความเสี่ยงที่กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารได้มากขึ้น จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ ในวารสาร Journal of Zhejiang University: Science B เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 ศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ชกับโรคกรดไหลย้อน พบว่า แอลกอฮอล์ส่งผลต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารต่างจากอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับอ่อน ตับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสัมผัสกับเนื้อเยื่อของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารโดยตรง และอาจทำให้เนื้อเยื่อเสียหายรุนแรงได้
อาหารที่มีคาเฟอีน
อาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารหย่อนตัว การโดยเฉพาะการดื่มกาแฟในขณะท้องว่างหรือหลังรับประทานอาหารอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างลดลงอย่างมาก จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Internal Medicine เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตและผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการอาหารไม่ย่อย โดยการให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,781 คน งดการบริโภคกาแฟเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการกรดไหลย้อนลดลงถึง 69.1% อย่างไรก็ตาม อาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนควรสังเกตว่าอาหารชนิดไหนที่รับประทานแล้วทำให้อาการกำเริบ หรืออาหารชนิดไหนที่รับประทานแล้วปลอดภัย
อาหารที่เหมาะกับคนเป็นกรดไหลย้อน
อาหารที่อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันกรดไหลย้อนได้ อาจมีดังนี้
- อาหารที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง รวมไปถึงผักและผลไม้ที่มีความเป็นกรดต่ำ เช่น กล้วย แตงโม แอปเปิ้ล แคนตาลูป
- อาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น อกไก่ ไข่ขาว นมถั่วเหลือง ปลาเนื้อขาว
- อาหารที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ปลาซาร์ดีน อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก อะโวคาโด
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย