backup og meta

สีผสมอาหารจากธรรมชาติ เพื่ออาหารสีสดใส แบบไร้สารเคมี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    สีผสมอาหารจากธรรมชาติ เพื่ออาหารสีสดใส แบบไร้สารเคมี

    การใช้สีผสมอาหาร เพื่อช่วยทำให้อาหารมีสีสันสดใส ดูน่ารับประทาน เป็นเรื่องปกติที่เป็นที่นิยมมากในการทำอาหาร และการทำขนมต่างๆ โดยสีผสมอาหารเหล่านั้นจะเป็นสีสังเคราะห์ เพื่อเลียนแบบสีที่มีอยู่จริง แต่การรับประทานสีผสมอาหารสังเคราะห์เหล่านี้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้น เราจึงควรหันมาลองใช้ สีผสมอาหารจากธรรมชาติ แบบปลอดภัย ไร้สารเคมี แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

    สีผสมอาหารจากธรรมชาติ มีอะไรบ้าง

    สีแดง

    บีทรูท (Beetroot) บีทรูท หรือหัวบีท เป็นผักที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นสีผสมอาหารจากธรรมชาติ โดยการคั้นน้ำบีทรูทมาผสมอาหาร มากน้อยตามความเข้มข้นของสี ถ้าใส่มากก็จะได้สีแดง ใส่น้อยก็จะได้สีชมพู บีทรูทนั้นมีคุณค่าทางสารอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามินซีและโฟเลต นอกจากนี้ยังดีต่อสุขภาพของหัวใจ ช่วยลดความดันโลหิต ต้านอักเสบ และยังอาจช่วยบำรุงสมองอีกด้วย

  • ข้อควรระวัง อย่างไรก็ตาม บีทรูทนั้นอาจจะทำให้ปัสสาวะมีสีชมพูหรือสีแดงได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิด ภาวะแคลเซียมต่ำ (Hypocalcemia)และไตเสียหายได้ ผู้ที่เป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานบีทรูท
  • กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบแดงก็เป็นอีกหนึ่งพืชที่จะให้สีแดงสด และมักจะใช้ในการย้อมผ้า แต่ก็สามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อใช้เป้นสีผสมอาหารได้เช่นกัน กระเจี๊ยบแดงนั้นสามารถช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงสุขภาพของตับ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

    • ข้อควรระวัง การรับประทานกระเจี๊ยบในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการเป็นพิษได้ นอกจากนี้กระเจี๊ยบแดงก็อาจจะทำปฏิกิริยากับสมุนไพรและยาอื่นที่คุณกำลังใช้ เช่น ยาที่ใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง การรับประทานยานั้นพร้อมกับกระเจี๊ยบแดง อาจทำให้ความดันโลหิตลดลงต่ำเกิดไปจนเป็นอันตรายได้

    สีเหลือง

    ขมิ้นชัน ขมิ้นชันนั้นมีการนำมาใช้เพื่อเป็นสีผสมอาหาร เพราะสามารถให้สีที่เหลืองสด โดยใช้ปริมาณไม่มาก มีราคาที่ไม่แพง หาง่าย และมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ขมิ้นชันสามารถช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืด ต้านอักเสบ เพิ่มการทำงานของสมอง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

    • ข้อควรระวัง บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน หรือท้องเสียจากการรับประทานขมิ้นชันได้

    หญ้าฝรั่น (Saffron) หญ้าฝรั่นเป็นพืชที่นิยมนำมาใช้เพื่อให้อาหารมีสีเหลืองอมส้ม ดูสวยงาม โดยเฉพาะในเมนูข้าวผัดสเปน (Paella) ที่จะขาดหญ้าฝรั่นไปไม่ได้ ประโยชน์ของหญ้าฝรั่นคือมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทำให้อารมณ์ดี และช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome ; PMS) ได้

    • ข้อควรระวัง หญ้าฝรั่นเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างหายาก จึงทำให้มีราคาแพง การรับประทานหญ้าฝรั่นมากกว่า 5 กรัมอาจจะเป็นพิษได้ โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ควรบริโภคหญ้าฝรั่นเกิน 5 กรัม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อมดลูกได้

    สีเขียว

    ใบเตย ใบเตยเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมที่คนไทยนิยมนำมาใส่ในอาหารและขนมเพื่อให้มีกลิ่นหอม และให้สีเขียวสวยเวลาใส่ในอาหาร ประโยชน์ของใบเตยคือช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ แก้หวัด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ดับกระหาย เป็นต้น

    • ข้อควรระวัง ใบเตยค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทาน แต่ควรระมัดระวังอย่าเคี้ยวกินใบสดๆ เพราะอาจทำให้อาเจียนได้

    สีน้ำเงิน

    อัญชัน ดอกอัญชันสามารถให้ได้ทั้งสีน้ำเงินและสีม่วง เมื่อเราคั้นน้ำที่ได้จากดอกอัญชันก็จะมีสีน้ำเงินเข้ม แต่หากเราเติมน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยก็จะกลายเป็นสีม่วง ดอกอัญชันสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บำรุงสายตา ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดอุดตันอีกด้วย

    • ข้อควรระวัง ดอกอัญชันมีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่กำลังรับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางได้

    สุดท้ายนี้ สีผสมอาหารจากธรรมชาติ แม้ว่าจะมีความปลอดภัยมากกว่าสีผสมอาหารสังเคราะห์ แต่การควบคุมระดับของสีและความสม่ำเสมอของสีที่ออกมาอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะสีผสมอาหารที่ได้จากธรรมชาติ มักจะไม่เด่นชัดเท่ากับสีผสมอาหารสังเคราะห์ นอกจากนี้การใช้สีผสมอาหารจากธรรมชาติ อาจกลายเป็นการเพิ่มรสและเพิ่มกลิ่นในอาหาร และส่งผลกระทบกับอาหารที่ทำได้ การเลือกใช้สีผสมอาหารจากธรรมชาติจึงควรเน้นการทดลองทำบ่อย ๆ เพื่อกะดูปริมาณของสีและรสชาติที่เหมาะสมในการทำอาหารนั้น ๆ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา