backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

แอสปาแตม น้ำตาลเทียม ที่มาพร้อมความเสี่ยงสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

แอสปาแตม น้ำตาลเทียม ที่มาพร้อมความเสี่ยงสุขภาพ

แอสปาแตม เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม โดยทำมาจากกรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนตามธรรมชาติผสมกับเมทิลเอสเทอร์ (Methyl Ester) โดยกรดแอสปาร์ติกนั้นเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ ส่วนฟีนิลอะลานีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น เมื่อแอสปาแตมเข้าสู่ร่างกายอาจย่อยสลายเป็นเมทานอล (Methanol) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากร่างกายได้รับเมทานอลในปริมาณมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้

แอสปาแตม คืออะไร

แอสปาแตม (Aspartame) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม อาจพบได้บ่อยที่สุดในท้องตลาด โดยแอสปาแตมทำมาจากกรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนตามธรรมชาติผสมกับเมทิลเอสเทอร์ (Methyl Ester) โดยกรดแอสปาร์ติกนั้นเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ ส่วนฟีนิลอะลานีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น แอสปาแตมเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะย่อยสลายเป็นเมทานอล (Methanol) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากร่างกายได้รับเมทานอลในปริมาณมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้ เนื่องจากเมทานอลอาจเปลี่ยนเป็นสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ

การบริโภคแอสปาแตม มีผลข้างเคียงอะไรไหม

จากข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) เผยว่า แอสปาแตมนั้นหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า ฉะนั้น ร่างกายจึงควรได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยปริมาณที่แนะนำต่อวัน ได้แก่

  • องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (United States Food and Drug Administratio หรือ FDA) แนะนำว่า ไม่ควรเกิน 50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority หรือ EFSA) แนะนำว่า ไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

แม้หน่วยงานส่วนใหญ่จะระบุว่า คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคแอสปาแตมได้อย่างปลอดภัย หากไม่เกินปริมาณที่แนะนำ แต่จากรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการบริโภควัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้บริโภคบางรายมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ มีอาการชา กล้ามเนื้อกระตุก ผื่นคัน น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจลำบาก ปวดข้อ สูญเสียการรับรส และหากใส่แอสปาแตมในอาหารที่ร้อนจัด ความร้อนก็อาจไปทำลายโครงสร้างของน้ำตาล จนอาจกลายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้ด้วย

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของแอสปาแตมโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ก็พบว่า ผู้ที่มีโรคเรื้อรังบางประการ อาจต้องเลี่ยงแอสปาแตม เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว หรือ ทำให้อาการแย่ลงได้ โดยโรคเรื้อรังที่ควรเลี่ยงแอสปาแตม อาจได้แก่

  • เนื้องอกในสมอง
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis)
  • โรคลมชัก
  • กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคอัลไซเมอร์
  • ภาวะปัญญาอ่อน
  • โรคเบาหวาน

หากเป็นโรคฟินิลคีโตนูเรียห้ามบริโภคแอสปาแตม หรือน้ำตาลเทียมเด็ดขาด เพราะร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญฟีนิลอะลานีน ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของแอสปาแตมได้

อาหาร Sugar-free ก็อาจมีแอสปาแตม

อาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดที่ระบุว่า Sugar-free หรือ ไม่มีน้ำตาล นั่นหมายถึง อาหารและเครื่องดื่มนั้น ๆ ไม่ได้เติมน้ำตาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้เติมสารให้ความหวานชนิดอื่น ๆ และแอสปาแตมก็เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมนำมาใช้ จึงอาจพบแอสปาแตมได้ในอาหารและเครื่องดื่มแบบไม่มีน้ำตาลต่าง ๆ มากมาย เช่น

  • น้ำอัดลมแบบไดเอท
  • ไอศกรีมแบบไม่มีน้ำตาล
  • น้ำผลไม้แคลอรี่ต่ำ
  • หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล
  • โยเกิร์ตไม่เติมน้ำตาล
  • ลูกอมไม่มีน้ำตาล
  • นอกจากจะหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ระบุว่ามีส่วนผสมของแอสปาแตมแล้ว ก็ควรสังเกตคำว่า ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) บนผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะบางครั้งแอสปาแตมก็อาจใช้ชื่อนี้แทน และนอกจากอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้แล้วก็อาจจะพบแอสปาแตมในรูปแบบเดียวกับน้ำตาลซอง หรือน้ำตาลก้อนได้ด้วย

    ติดหวานใช้อะไรแทนแอสปาแตมดี

    หากอยากเพิ่มความหวานให้กับเครื่องดื่มหรืออาหารที่รับประทาน แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานจากธรรมชาติเหล่านี้แทนแอสปาแตม

    • น้ำผึ้ง
    • น้ำเชื่อมเมเปิ้ล หรือเมเปิ้ลไซรัป
    • น้ำผลไม้คั้นสด
    • หญ้าหวาน
    • แบล็กสแตรป โมลาส (Blackstrap molasses) หรือกากน้ำตาลที่มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 50-60%

    แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นความหวานจากธรรมชาติ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย เช่น น้ำผึ้ง ควรบริโภควันละประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ รวมแล้วต้องไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะ/วัน จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาลเกิน และน้ำหนักเกิน เนื่องจากสารให้ความหวานส่วนใหญ่มักมีปริมาณแคลอรี่สูง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา