backup og meta

ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ควรกินอาหารแบบไหนถึงจะดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/07/2020

    ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ควรกินอาหารแบบไหนถึงจะดี

    การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และเหมาะสมถูกต้องกับสุขภาพกาย นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยในการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย ให้สามารถต่อสู้กับโรคได้ดียิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอ อาหารสำหรับผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง ที่ควรรับประทาน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม สำหรับการต่อสู้กับโรคร้าย

    อาหารสำคัญอย่างไรต่อผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง

    การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สมดุล และมีคุณค่าทางโภชนาการนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคุณป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง เพราะการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือโรคร้ายและผลข้างเคียงจะการรักษาได้ดีมากขึ้น เนื่องจาก

    • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรง และมีพลังกายมากขึ้น
    • ช่วยควบคุมและรักษาระดับของน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป
    • ทำให้ผู้ป่วยได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
    • ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้น
    • ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    • ช่วยบรรเทาอาการและผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา

    ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษาโรคเนื้องอกในสมอง เช่น อาการเบื่ออาหาร อาการท้องเสีย หรืออาการคลื่นไส้อาเจียน อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยสูญเสียน้ำและสารอาหารจำนวนมากได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการจัดการกับอาการข้างเคียงให้เหมาะสม และรับประทานอาหารที่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ ทำให้ตัวผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง สามารถดูแลและบำรุงร่างกายให้แข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับโรคร้ายต่อไป

    อาหารสำหรับผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง ที่ควรรับประทาน

    หากจะว่ากันตามตรง ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัว หรืออาหารที่เฉพาะเจาะจง ว่าผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองควรรับประทาน แต่ในระหว่างการรักษาโรคเนื้องอกในสมอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การผ่าตัด หรือการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ก็อาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงได้ ดังนั้นแนวทางในการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง จึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับผลข้างเคียงของการรักษาต่างๆ ดังต่อไปนี้

    อาการท้องผูก

    อาการท้องผูกนั้นเป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดในการรักษาโรคเนื้องอกในสมอง อีกทั้งผู้ป่วยหลายคนยังรู้สึกอายเกินกว่าที่จะปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปัญหานี้ อาการท้องผูกนั้นนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวแล้ว ยังอาจส่งผลต่อความอยากอาหาร หรือนำไปสู่การเกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย

    อาหารที่ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองควรรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกนั้น คืออาหารที่มีน้ำและมีใยอาหารสูง เช่น

    • ผักสดต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว หรือบวบ เป็นต้น
    • พืชตระกูลถั่วต่างๆ
    • ผลไม้สด โดยเฉพาะผลไม้ที่ดีต่อการขับถ่าย เช่น มะละกอ กล้วยสุก
    • ธัญพืชเต็มเมล็ด
    • ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง

    คลื่นไส้ อาเจียน

    เนื้องอกในสมอง การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีบำบัดเพื่อรักษาเนื้องอกในสมอง ล้วนแล้วแต่ก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ทั้งนั้น การคลื่นไส้อาเจียนมากจนเกินไป อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ เบื่ออาหาร หรือขาดสารอาหารได้

    อาหารที่จะช่วยจัดการกับอาการคลื่นไส้ ได้แก่

    • อาหารแห้งๆ เช่น ขนมปัง ซีเรียล หรือแคกเกอร์ รับประทานเมื่อตื่นนอนและทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
    • ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน เช่น ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
    • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของมินต์ มะนาว หรือขิง
    • เครื่องดื่มซ่าๆ เช่น น้ำอัดลม หรือโซดา

    นอกจากนี้ก็ควรแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ และหลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน และอาหารที่มีกลิ่นแรง เพราะอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้มากกว่าเดิม

    บำรุงกระดูก

    การทำเคมีบำบัดโดยใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroids) เป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อกระดูก ทำให้กระดูกเสื่อมและเปราะบางลง ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองจึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น

    นอกจากนี้ก็ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เช่น

    • กุ้ง
    • ไข่
    • ปลาแซลมอน
    • หอยนางรม

    นอกจากนี้ คุณก็ควรพยายามลดน้ำหนักตัว และลดการบริโภคน้ำตาลและไขมัน เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว และไม่เพิ่มภาระให้กับกระดูกของคุณ ช่วยให้การรักษาโรคเนื้องอกในสมองเป็นไปอย่างราบรื่น โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา