โรค คางทูม (Mumps) เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้ต่อมน้ำลายที่อยู่ใกล้ ๆ ใบหูอักเสบ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สูญเสียการได้ยิน ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการสังเกตอาการ รวมไปถึงการรักษาและการป้องกันโรคคางทูมอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
คางทูม คืออะไร
คางทูม (Mumps) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย พบมากในเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโรคหัด โรคคางทูม และ โรคหัดเยอรมัน (Measles-mumps- rubella vaccine; MMR vaccine) เชื้อไวรัสสามารถส่งผลต่อวัยวะหลายส่วน แต่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ต่อมน้ำลาย คือทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ จนบริเวณกรามหรือคางบวมขึ้น จึงได้ชื่อว่า โรคคางทูม
คางทูมพบบ่อยเพียงใด
โรคคางทูมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโรคหัด โรคคางทูม และ โรคหัดเยอรมัน แต่ก็สามารถพบในคนวัยอื่นได้เช่นกัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์
อาการ
อาการของคางทูม
อาการของโรคคางทูมมักปรากฏให้เห็นหลังติดเชื้อประมาณ 2-3 อาทิตย์ โดยอาการที่พบได้มากที่สุดของโรคคางทูมก็คือ ต่อมน้ำลายอักเสบ จนส่งผลให้บริเวณกรามหรือคางข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างบวมกว่าปกติ และผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
- เจ็บเวลาเคี้ยวหรือกลืน
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ไม่อยากอาหาร
ส่วนใหญ่แล้ว อาการของโรคคางทูมจะหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรือมีอาการเบามาก เช่น มีอาการคล้ายไข้หวัด จนเข้าใจผิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอื่น หรือไม่คิดว่าเป็นคางทูม จึงไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง
บางครั้ง โรคคางทูมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้ด้วย โดยเฉพาะในผู้ใหญ่
- อัณฑะอักเสบในผู้ชายที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว และอาจส่งผลให้ลูกอัณฑะฝ่อได้ด้วย
- รังไข่อักเสบ หรือเต้านมอักเสบ
- ตับอ่อนอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ไข้สมองอักเสบ
- หูอักเสบ จนส่งผลให้สูญเสียการได้ยิน
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากมีสัญญาณหรืออาการของโรคคางทูม หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอทันที
และอย่าลืมแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทราบด้วยว่าอาจเป็นโรคคางทูม เพราะโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้อย่างเหมาะสมที่สุด
สาเหตุ
สาเหตุของ คางทูม
โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสคางทูม ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสกลุ่มที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเด็กซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
ไวรัสนี้แพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางน้ำมูก หรือน้ำลาย เมื่อคุณได้รับเชื้อไวรัสคางทูมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ และไม่มีภูมิคุ้มกันเชื้อนี้ เชื้อจะเดินทางไปที่ต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณหน้ากกหู (Parotid gland) และเริ่มเจริญเติบโตและแพร่กระจาย จนทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ
และไม่ใช่แค่ส่งผลต่อต่อมน้ำลายได้เท่านั้น เพราะไวรัสคางทูมสามารถเข้าไปในน้ำไขสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและปกป้องสมองกับไขสันหลังของเรา ก่อนจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ตับอ่อน อัณฑะ รังไข่ และทำให้อวัยวะนั้น ๆ อักเสบได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคคางทูม
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคคางทูม
หากสงสัยว่าเป็นโรคคางทูม แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอก่อนเข้ารับการรักษา คุณหมอจะได้แนะนำวิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นเมื่อคุณไปถึงสถานพยาบาล
คุณหมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น ถามอาการ และสอบถามว่าผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนโรคหัด โรคคางทูม และ โรคหัดเยอรมัน มาก่อนหรือไม่ และบางครั้ง คุณหมออาจต้องเก็บตัวอย่างน้ำลายและเลือดของผู้ป่วยไปตรวจด้วย
การรักษาโรคคางทูม
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคคางทูมโดยเฉพาะ โดยปกติแล้ว โรคคางทูมจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยคุณหมอจะแนะนำให้คุณบรรเทาอาการของโรคด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พักผ่อนให้มาก ๆ
- หากผู้ป่วยอายุมากกว่า 16 ปี ก็สามารถกินยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล (Paracetamol) ได้
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ และควรงดเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้ต่อมน้ำลายยิ่งระคายเคือง
- บรรเทาอาการปวดบวมของต่อมน้ำลายด้วยการประคบร้อนหรือประคบเย็น
- กินอาหารที่เคี้ยวง่าย ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน ควรพบคุณหมอทันที
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับคางทูม
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันและช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคคางทูมได้
- รับวัคซีนโรคหัด โรคคางทูม และ โรคหัดเยอรมัน (MMR)
- หากเป็นโรคคางทูม ควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน พักผ่อนอยู่บ้านจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือหายดีแล้ว
- ล้างมือเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่ แต่หากไม่สะดวก ควรพกเจลล้างมือไว้เสมอ จะได้หยิบใช้ได้สะดวก
- ไอจามใส่ทิชชู่ และทิ้งทิชชู่ลงในถังขยะทันที และหากทำได้ ควรใส่ทิชชู่ในถุงพลาสติกแล้วผูกปากถุงให้มิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะ